ปลูกกล้วยกลางกรุง คลังยันเก็บภาษีที่ดินมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ย้ำ กทม.ปรับขึ้นอัตราได้เอง

ปลูกกล้วย

คลังชี้ภาษีที่ดินใช้หลักกฎหมายเท่าเทียม ยังไม่สรุปรื้อเกณฑ์เก็บภาษีที่ดินเศรษฐีเพิ่ม กรณีนำที่ว่างเปล่ามาปลูกพืชเกษตร

วันที่ 5 กันยายน 2565 แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้เข้าหารือกับคณะอนุกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถึงข้อปฏิบัติในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งก่อนหน้านี้กรุงเทพมหานครตั้งข้อสังเกตถึงที่ดินใจกลางเมืองที่ปล่อยทิ้งร้างเป็นที่ว่างเปล่า แต่เมื่อมีการออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เจ้าของที่ดินเหล่านั้นก็หันมาทำแปลงปลูกมะนาว หรือกล้วย เพื่อให้ที่ดินของตนเองเข้านิยามที่ดินเพื่อการเกษตร ซึ่งมีอัตราภาษีที่ต่ำกว่าที่ดินที่ปล่อยรกร้างว่างเปล่า

อย่างไรก็ดี หลักเกณฑ์ที่กำหนดว่าที่ดินแปลงใดเข้านิยามการเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้เหมือนกันหมดทั่วประเทศ ซึ่งอาจมีคำถามว่าที่ดินบางแปลงที่มีมูลค่าสูง ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนทำการเกษตรนั้น ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เพราะบางคนอาจยังไม่มีทุนเพียงพอที่จะพัฒนาที่ดินของตนเองได้ ดังนั้น กฎหมายจึงไม่สามารถออกมาแบบเฉพาะเจาะจงให้ใช้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ โดยหากเข้าตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่เท่าเทียมกัน เช่น หากปลูกกล้วยหอมตั้งแต่ 200 ต้น/ไร่ ขึ้นไป จะเข้าข่ายการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร เป็นต้น

“เมื่อคณะอนุกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีความเห็นประการหนึ่งประการใดแล้ว จะต้องเสนอให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยปัญหาในการจัดเก็บภาษีตามที่กรุงเทพมหานคร เสนอมา”

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นการจัดเก็บตามมูลค่าที่ดิน และเก็บตามช่วงมูลค่า เป็นขั้นบันใด โดยได้กำหนดอัตราภาษีในอัตราแนะนำ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ รวมถึงกรุงเทพมหานคร ใช้ในการจัดเก็บ เช่น ในกรณีที่ดินเพื่อการเกษตร ช่วงมูลค่า 0-75 ล้านบาท ให้จัดเก็บในอัตรา 0.01%, มากกว่า 75 ล้านบาท ถึง 100 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 0.03 % และ 1 พันล้านบาทขึ้นไป จัดเก็บในอัตรา 0.1% เป็นต้น

ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่า กรณีมูลค่าที่ดิน ไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียในอัตรา 0.3% และมากกว่า 50 ล้านบาท ถึง 200 ล้านบาท เก็บในอัตรา 0.4% เป็นต้น ทั้งนี้ ท้องถิ่นสามารถเพิ่มอัตราภาษีได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่นกรณีที่ดินเพื่อการเกษตรกำหนดเพดานไว้สูงสุดไม่เกิน 0.15%

อย่างไรก็ตาม หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดต้องการจะเพิ่มอัตราภาษีให้สูงกว่าอัตราแนะนำ จะต้องเสนอให้คณะกรรมการตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อนุมัติ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร สามารถดำเนินได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องมาขออนุมัติ