มุมคิดซีอีโอ ไทยพาณิชย์ ชี้ทางรอดเศรษฐกิจไทย โจทย์ใหญ่แก้เหลื่อมล้ำ

กฤษณ์ จันทโนทก
กฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์

โลกในปัจจุบันเต็มไปด้วยความผันผวน เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จะฝ่ามรสุมต่าง ๆ ไปได้อย่างไร “กฤษณ์ จันทโนทก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งนี้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา

ได้ขึ้นเวทีอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในการบรรยายพิเศษหัวข้อ “โอกาส-ทางรอด เศรษฐกิจไทย” ในงานสัมมนาท้าชน PERFECT STORM จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา

“ความเหลื่อมล้ำ” ต้นตอปัญหา

โดย “กฤษณ์” สะท้อนว่า ต้นตอปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือ ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมาจาก 2 ปัจจัย คือ 1.โครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป

และ 2.ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจะเห็นได้ว่าครัวเรือนไทยต้องเผชิญความผันผวนของกระแสรายได้และรายจ่ายอย่างรุนแรง ชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยและโครงสร้างรายได้ของประชากรไทย

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2564 พบว่าครัวเรือนไทยกว่า 7 ล้านครัวเรือน หรือ 1 ใน 3 ของครัวเรือนทั้งหมด อยู่ในภาวะที่รายได้ไม่พอกับรายจ่าย และพบว่าครัวเรือนไทยเกือบ 9% มีรายได้หลังหักกลบลบหนี้แล้ว เหลือเงินออมน้อยกว่า 5%

นอกจากนี้ ที่สำคัญ ในช่วงโควิดที่ผ่านมา เงินออมของทั้งระบบธนาคารไทยที่เพิ่มขึ้นมากถึงราว 2.5 ล้านล้านบาท แต่หากเข้าไปดูไส้ใน จะเห็นถึงความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้น เนื่องจากสัดส่วนประมาณ 90% เป็นเงินออมในบัญชีที่มีขนาดใหญ่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งมีอยู่เพียง 1.5% ของบัญชีทั้งหมดในระบบธนาคารไทย ขณะที่บัญชีเงินฝากส่วนใหญ่ที่มีเงินออมน้อยกว่า 1 ล้านบาท มีการปรับตัวลดลงอย่างน่าเป็นห่วง

ความไม่เท่าเทียมทางการเงิน

ขณะเดียวกัน คนไทยเผชิญกับความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการทางการเงินใน 2 มิติ คือ 1.โอกาสในการเข้าถึงความช่วยเหลือที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยมาตรการส่วนใหญ่ที่ออกมายังคงกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อฟื้นฟูที่ 1 ใน 3 ของวงเงินเป็นสินเชื่อเพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่เอสเอ็มอี หรือภาคบริการที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากภาวะเศรษฐกิจ

และสถานการณ์โควิดและเป็นกลุ่มมีหนี้เสีย (NPL) มากที่สุด กลับได้รับการช่วยเหลือเพียง 11% ของวงเงินสินเชื่อฟื้นฟู เช่นเดียวกับมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ที่พบว่า 1 ใน 3 ของวงเงินสินเชื่อที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นธุรกิจรายใหญ่ ในขณะที่เอสเอ็มอีหรือรายย่อยได้รับการช่วยเหลือในสัดส่วนที่น้อยกว่าอย่างชัดเจน

และ 2.การเข้าถึงบริการทางการเงินที่ไม่เท่าเทียมในกลุ่มธุรกิจที่ต้องการการเข้าถึงบริการทางการเงินที่มากที่สุด โดยพบว่ากลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากกว่า 90% มีความต้องการความช่วยเหลือทางการเงิน แต่ธนาคารทั้งระบบปล่อยสินเชื่อครอบคลุมกลุ่มเอสเอ็มอีได้เพียง 30-40%

ซึ่ง 3 สาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มเอสเอ็มอียังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ได้แก่ 1.ไม่มีหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน 2.การรับประกันรายได้ของอนาคต และ 3.ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการทำแผนธุรกิจ

“เรามองว่าถึงเวลาที่ภาคการเงินจะต้องช่วยกัน ในการกระจายโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนของผู้ประกอบการ และสนับสนุนเศรษฐกิจในการเติบโตในระยะยาว”

4 แนวทางหนุนเข้าถึงเงินทุน

“กฤษณ์” กล่าวว่า สำหรับไทยพาณิชย์ ได้สนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มากขึ้น ใน 4 ด้าน คือ 1.มุ่งเน้นการให้สินเชื่อเพื่อการพัฒนาโครงสร้างธุรกิจ (transformation loan) เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีศักยภาพ เห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ เข้าถึงเงินกู้ให้ได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น

เพื่อรับมือกับอนาคตในโลกที่กำลังถูกรบกวน เช่น ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ ESG, ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เป็นต้น 2.การปรับหลักการอนุมัติสินเชื่อตามบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป โดยการให้สินเชื่อโดยอาศัยจากข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ถึงรูปแบบในการนำเงินไปใช้และความเสี่ยงในการผิดชำระหนี้ จากปัจจุบันที่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

“การปรับหลักการอนุมัติสินเชื่อตามบริบทสังคม จะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเงินมากขึ้น วงเงินที่ได้รับอนุมัติและเงื่อนไขการชำระเงินจะสอดคล้องกับวงจรธุรกิจมากขึ้น ดอกเบี้ยถูกกว่าการกู้นอกระบบ ระยะเวลาอนุมัติสินเชื่อรวดเร็วขึ้น จากการใช้เทคโนโลยีประมวลผลข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อลดต้นทุนการพิจารณาสินเชื่อ”

3.การปล่อยสินเชื่อออนไลน์ ที่มีการบริหารจัดการ หรือดำเนินงานผ่านช่องทางดิจิทัล (digital lending) ให้ก้าวข้ามข้อจำกัดของธนาคารในด้านพื้นที่ ต้นทุน และพนักงาน เช่น แอปพลิเคชั่น SCB EASY ที่ลูกค้าใช้บริการ 13.7 ล้านบัญชี ก็สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ กู้เงินผ่านแอปได้

และ 4.ธนาคารสามารถใช้ทรัพยากร ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญและสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อส่งเสริมให้กับผู้ประกอบการรายย่อยหรือครัวเรือนมีความรู้ความเข้าใจในการบริหารความเสี่ยงเพิ่มความรู้ เพื่อทำให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น และสามารถที่จะปรับโครงสร้างของธุรกิจตัวเองในการตอบโจทย์ความท้าทายของโลกอนาคต

3 ทางรอดเศรษฐกิจไทย

ในขณะที่ทางรอดของเศรษฐกิจไทย “ซีอีโอไทยพาณิชย์” ชี้ว่า คงไม่มีคำตอบใดเป็นคำตอบเดียว คงจะมาจากความช่วยเหลือในหลาย ๆ ภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หลายอุตสาหกรรม แต่ในมุมของธนาคาร มีอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.บทบาทของธนาคารในโลกยุคใหม่จะต้องเป็นมากกว่าแหล่งเงินทุน โดยร่วมกันแก้ปัญหาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ในมิติของความไม่เท่าเทียม

2.ธนาคารต้องปรับบทบาทในการทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงง่ายขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การกู้ยืม แต่เป็นการให้คำปรึกษาให้ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุนการบริหารการเงิน รวมไปถึงการบริหารความเสี่ยงเพื่อรองรับความผันผวนของรายรับและรายจ่าย

และ 3.การให้คำแนะนำและชี้ให้เห็นถึงโอกาสและการปรับตัวของธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนคนไทยปรับตัวรับ disruptive world หรือโลกที่มีความผันผวนอย่างมาก