ธปท.ขยับตีกรอบแบงก์แก้หนี้ ประกาศนโยบายต้นปี 2566 คุม “ครบวงจร”

แก้หนี้

ธปท.เตรียมออกเอกสารกำหนด “ทิศทางและนโยบาย” ตีกรอบบทบาทแบงก์แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หวังแก้หนี้ครบวงจร ตั้งแต่หนี้เดิมยันการก่อหนี้ใหม่ ขณะที่ “ประธานสมาคมไทย” ชี้ปี 2566 สถานการณ์หนี้เสียยังน่าห่วง ระบุแผนธุรกิจ “กรุงไทย” ยังช่วยปรับโครงสร้างหนี้-ประคองกลุ่มเปราะบางต่อเนื่อง

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงต้นปี 2566 นี้ ธปท.จะมีการออกเอกสารทิศทางและนโยบาย (directional paper) ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน ตั้งแต่ต้นเหตุยันปลายเหตุ

“ตอนนี้อยู่ระหว่างประคับประคอง และเก็บตกการช่วยเหลือลูกหนี้ ก็คุยกับแบงก์ว่าจะทำอะไรได้อีกบ้าง แต่คงไม่ได้เป็นมาตรการใหญ่ และช่วงต้นปีจะมีการออก directional paper เรื่องหนี้ครัวเรือนออกมา” นางสาวชญาวดีกล่าว

ก่อนหน้านี้ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า ปัจจุบันสิ่งที่ ธปท.กำลังผลักดันคือ พยายามแก้ปัญหาหนี้ให้ครบวงจรมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาหนี้เดิม และในระยะข้างหน้าจะให้ความสำคัญตั้งแต่ก่อนก่อหนี้ เช่น การให้ความรู้ทางการเงิน

นอกจากนี้ ธปท.ยังให้ความสำคัญกับการปล่อยหนี้ใหม่ คือ การให้สถาบันการเงินให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ไม่สร้างภาระหนี้มากเกินไปให้กับลูกหนี้

“ทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้เร็ว ต้องใช้เวลา การแก้ปัญหาหนี้จะดูเรื่องหนี้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำควบคู่กับเรื่องรายได้ด้วย เพราะถ้ารายได้ไม่มาการแก้หนี้ก็จะไม่จบ” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

ขณะที่นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า จากสัญญาณเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่ยังมีความท้าทาย ประเมินว่า ในปี 2566 ประเด็นหน้าผาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม เพราะหนี้ยังค่อนข้างสูง ซึ่งต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรเพื่อดึงหนี้ให้ลงมาได้

“โครงสร้างหนี้เสียของระบบไม่ได้ปรับลดลงเร็ว ดังนั้นจึงหวังว่าจากมาตรการต่าง ๆ ที่สถาบันการเงินและระบบออกมา จะช่วยฟื้นฟูกลุ่มลูกหนี้ให้กลับมาได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น”

ตาราง สัดส่วนสินเชื่อ

นายผยงกล่าวว่า ในช่วงภาวะที่ดอกเบี้ยขาขึ้นจากการปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติ และการปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จะส่งผลต่อต้นทุนของแบงก์ที่จะปรับเพิ่มขึ้นทันที 0.40-0.60% ประเด็นเหล่านี้จะกระทบต่อกลุ่มเปราะบางมากขึ้น

ดังนั้น สิ่งที่กรุงไทยยังคงเน้นในปี 2566 คือ การเข้าไปดูแลกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว และจะมีเข้ามาเพิ่มเติม

ทั้งนี้ เพื่อดึงกลุ่มเปราะบาง ทั้งธุรกิจเอสเอ็มอี และรายย่อย ให้เข้ามาสู่มาตรการการช่วยเหลือ รวมถึงมาตรการของภาครัฐอย่าง มหกรรมการแก้ไขหนี้ ที่จัดเป็นเชิงรุกกระจายทั่วทุกภูมิภาคอยู่

สำหรับกรุงไทยจะพยายามประคองระดับหนี้เสียไม่ให้เกิน 3.5% ในสิ้นปี 2565 นี้ เพื่อซอฟต์แลนดิ้ง และปี 2566 เอ็นพีแอลก็น่าจะยังทรงตัวอยู่ระดับเดิมได้

อย่างไรก็ดี ยังคงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่จะเข้ามากระทบ เช่น การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาได้หรือไม่ และภาคผลิตและอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากภาคการส่งออกหรือไม่

“ถ้าดูตัวเลขการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารกรุงไทยในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีและกลุ่มลูกค้ารายย่อย โดยในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปี 2565 ธนาคารได้มีการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นมูลค่าหลายพันล้านบาท

เช่นเดียวกับกลุ่มด้านลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือรหัส 21 ภายใต้นิยามของเครดิตบูโร ที่เคยเป็นลูกหนี้ปกติ แต่กลับมาเป็นหนี้เสียในช่วงโควิด ธนาคารก็ได้เข้าไปดูแลกลุ่มนี้ต่อเนื่อง”

นายผยงกล่าวด้วยว่า ปี 2566 ยังคงมีความท้าทายต่อธุรกิจธนาคาร แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเร็วของการฟื้นตัว โดยกรุงไทยตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 3-4% หรือ 1-1.5 เท่าของ GDP

ซึ่งธนาคารจะมุ่งไปสู่พอร์ตสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนที่ดี เช่น สินเชื่อรายย่อย สินเชื่อบ้าน สินเชื่อหมุนเวียน เป็นต้น เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา มีการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง แต่ผลตอบแทนต่ำ เช่น สินเชื่อโรงสีข้าว ซึ่งทำให้ธนาคารมีหนี้เอ็นพีแอลสูงถึง 6-7 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ธนาคารจึงปรับโครงสร้างสินเชื่อไปสู่สมดุลมากขึ้น