ชโย ไม่ใช่ ไชโย บริษัทแจ้งระวังมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน ทำคลิปเลียนแบบ

ชโย อนุวัต

ชโย กรุ๊ป เตือนภัย มิจฉาชีพหลอกโอนเงินแก้ไขข้อมูลอนุมัติสินเชื่อ ยืนยันบริษัทไม่มีนโยบายเรียกเก็บเงินลูกค้าก่อนรับเงินกู้เด็ดขาด หลังผู้ประกาศชื่อดังถูกตัดคลิปลอกเลียนแบบ ล่าสุด “อนุวัตจัดให้” แจ้งความร้องทุกข์ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ

วันที่ 27 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในหมวดธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ ในหน้าแรกของเว็บไซต์มีข้อความระบุว่า

เรียนลูกค้าทุกท่าน
“โปรดระวังมิจฉาชีพ” หลอกให้โอนเงินเพื่อแก้ไขข้อมูลในการขออนุมัติสินเชื่อ บริษัทขอแจ้งให้ทราบว่า ไม่มีนโยบายเรียกเก็บเงินลูกค้าก่อนได้รับเงินกู้โดยเด็ดขาด

เพื่อแก้ไขปัญหามิจฉาชีพที่แอบอ้างและเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ทางบริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ขอแจ้งว่า ไม่มีนโยบายให้ลูกค้าหรือผู้ที่ต้องการสินเชื่อโอนเงินมัดจำมาก่อน หรือโอนเข้าบัญชีบุคคล/บัญชีพนักงานโดยเด็ดขาด หากสงสัยติดต่อสอบถามมาที่บริษัทโดยตรงที่เบอร์ 08-1423-0000, 0-2004-5558, 0-2004-5511 (“ชโย” ไม่ใช่ “ไชโย”)

ชโย ทำธุรกิจการเงิน มีบริษัทย่อย 5 แห่ง

ทั้งนี้ บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีตัวย่อหลักทรัพย์ว่า CHAYO ประกอบธุรกิจของกลุ่มกิจการ มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการเจรจาติดตามและเร่งรัดหนี้สิน และบริหารสินทรัพย์จากการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันจากสถาบันการเงิน และกิจการศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า ตั้งอยู่ที่เลขที่ 44/499-504 ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220 ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 546 ล้านบาท

มีบริษัทย่อย 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ชโย จำกัด, บริษัท ชโย พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด, บริษัท ชโย แคปปิตอล จำกัด, บริษัท 555 ช้อปปิ้ง จำกัด และบริษัท บริหารสินทรัพย์ชโย เจวี จำกัด

มิจฉาชีพทำคลิปลอกเลียน ลวงคนหลงเชื่อโอนเงิน

การแจ้งยืนยันการให้บริการและการดำเนินการดังกล่าวของ บมจ.ชโย กรุ๊ป สืบเนื่องจากมีมิจฉาชีพแอบอ้างและทำคลิปตัดต่อหลอกลวให้โอนเงินเพื่อขอสินเชื่อ

รวมถึงตามที่ มติชน รายงานวานนี้ (26 ม.ค.) ระบุว่า ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พร้อมด้วยนายอนุวัต เฟื่องทองแดง ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง เจ้าของฉายา “อนุวัตจัดให้” เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จากกรณีถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์นำรูปภาพและวิดีโอไปใช้ในการหลอกเพื่อกู้ยืมเงินสินเชื่อออนไลน์ ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อหลายร้อยคน สร้างความเสียหายต่อหน้าที่การงานและชื่อเสียง แต่เนื่องจาก พล.ต.ท.วรวัฒน์ติดภารกิจจึงมอบหมายให้ พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิต ผบก.ตอท. เป็นผู้รับเรื่องแทน

นายอนุวัตกล่าวว่า มีกลุ่มมิจฉาชีพนำคลิปและภาพถ่ายที่ตนเคยเป็นพรีเซ็นเตอร์สินเชื่อให้กับบริษัทสินเชื่อแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกกฎหมายใช้ชื่อ “เงินไชโย” แต่ของมิจฉาชีพใช้ชื่อ “ชโย แคปปิตอล” แต่กลุ่มมิจฉาชีพนำภาพกับคลิปไปตัดต่อเปลี่ยนชื่อที่ใกล้เคียง ทำให้คนหลงเชื่อ เข้าไปติดต่อขอกู้สินเชื่อ พอเหยื่อตายใจโอนเงินไปให้ การกระทำที่มีทีมงานติดต่อเข้ามาทั้งทีมรับเรื่อง ทีมสินเชื่อ มีการขอสำเนา เอกสารต่าง ๆ เหมือนกับบริษัทสินเชื่อ จากนั้นจะมีการแจ้งว่าได้รับการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งในระหว่างนั้นก็จะหลอกล่อให้เหยื่อโอนเงินเพื่อประกันเงินกู้ หรือมีการโอนเงินไปผิดบัญชีให้มีการโอนใหม่ หรือไม่ก็จะออกอุบายว่าไม่ได้ทำการยืนยันตัวตน ให้โอนเงินมาเพื่อยืนยันตัวตน หรือระบบมีการล็อกอยู่ ให้โอนเงินเพื่อปลดล็อก หรือออกอุบายว่าบัญชีของท่านเข้าไปพัวพันกับยาเสพติด ให้โอนเงินมาเพื่อล้างบัญชีเป็นต้น ซึ่งทุกอย่างเป็นการคุยผ่านทางออนไลน์ ไม่ได้เจอตัวตนจริง

ผู้เสียหาย 100 ราย สูญเงินหลักพันถึงล้านบาท

ทั้งนี้ มีผู้เสียหายนับ 100 คน มูลค่าความเสียหายต่อคนตั้งแต่หลัก 1,000 บาท-1 ล้านบาท โดยมีผู้เสียหายจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งการแอบอ้างตนในลักษณะนี้ทำให้คนหลงเชื่อจำนวนมาก หลายคนที่ไหวตัวทันก็ไม่โอน หลายคนที่ไหวตัวไม่ทันโอนไปแล้วก็ทักมาหาตนในช่องทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก ตอนแรก ๆ ก็ไล่ตอบทีละคน แต่ตอนนี้เยอะขึ้นจนตอบไม่ไหวแล้วจึงต้องออกมาแจ้งความ ตอนแรกตั้งใจที่จะช่วยคนที่เดือดร้อน แต่ตอนนี้กลับกลายว่าเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพใช้ทำมาหากินหลอกเหยื่อ ทำให้รู้สึกอึดอัด และเกรงว่าจะมีผู้เสียหายเยอะว่านี้จึงตัดสินใจเข้าแจ้งความ และให้เจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมตัวผู้ก่อเหตุมารับผิดให้ได้ ซึ่งหลังจากนี้อาจจะต้องระวังเรื่องการอ่านข่าวที่เกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ มากขึ้น หรืออาจจะไม่อ่านข่าวในลักษณะนี้อีก และได้นำคลิปมาเปิดเปรียบเทียบคลิปจริงและคลิปที่มิจฉาชีพตัดต่อโชว์ต่อสื่อมวลชน

นายรณณรงค์กล่าวว่า สำหรับใครที่ถูกหลอกให้ไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ส่วนวันนี้มาร้องทุกข์กล่าวโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ความผิดเกี่ยวกับการตัดต่อภาพ และนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งสิ่งแรกที่ต้องการร้องขอคือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นเว็บไซต์ ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นอกจากนี้ยังอยากให้ธนาคารเข้ามาแจ้งความเป็นผู้เสียหายด้วย เพราะถ้าธนาคารมาเองเรื่องจะเร็วมากยิ่งขึ้น ต้องยอมรับว่ามาตรการทางด้านการเงินเราอ่อนแอ โอนเข้าปุ๊บก็มีการโอนต่อยักย้ายถ่ายเทไปเป็นสกุลเงินอื่นได้อย่างรวดเร็ว ยากต่อการติดตาม