อีไอซี เปิดผลสำรวจท่องเที่ยวสไตล์ LGBTQIA+

ดร.กมลมาลย์ แจ้งล้อม
ดร.กมลมาลย์ แจ้งล้อม

EIC เปิดผลสำรวจการท่องเที่ยวสไตล์ชาว “LGBTQIA+” ชี้กว่า 30% เที่ยวกว่า 5 ครั้งต่อปี เน้นทริประยะสั้น-เดินทางสะดวก-ที่พักสุดชิก-ดีลพิเศษ แนะผู้ประกอบการออกแบบที่พัก-ตกแต่งมีสไตล์-อุปกรณ์ทันสมัย เชื่อเพิ่มความน่าสนใจ 2 เท่า

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.กมลมาลย์ แจ้งล้อม นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) เปิดเผยว่า ความโดดเด่นของเหล่า LGBTQIA+ ส่วนหนึ่งของเบื้องหลังการสร้างสีสันและความหลากหลายให้ภาคการท่องเที่ยว โดยจากผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคไทยเกี่ยวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศ (EIC Consumer survey 2565) ในช่วงวันที่ 8-22 กรกฎาคม 2565 พบว่าชาว LGBTQIA+ เป็นอีกกลุ่มที่หลงใหลการเดินทางท่องเที่ยว โดยราว 30% ท่องเที่ยวมากกว่า 5 ครั้งต่อปี ซึ่งการใส่ใจและเข้าใจความหลากหลายอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ให้ภาคการท่องเที่ยวในอนาคตได้

เที่ยวสไตล์ LGBTQIA+ ยืนหนึ่งไม่ซ้ำใคร…ถ้าไม่ปังก็ไม่ไป

ทริปท่องเที่ยวส่วนใหญ่เน้นทริปสั้นไปกับแก๊งเพื่อน หรือจูงมือเที่ยวเป็นคู่ โดยราว 32% จะเดินทางกับกลุ่มเพื่อนและ 28% เดินทางเป็นคู่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นจัดทริประยะสั้นเดินทาง 2-3 วัน แต่ไปได้บ่อย ๆ ขณะที่กลุ่มเดินทางคนเดียวเป็นอีกกลุ่มที่น่าจับตา จากจำนวนที่มีสัดส่วนราว 26% รวมถึงระยะเวลาในการท่องเที่ยวที่ราว 40% จะจัดทริปยาว ๆ มากกว่า 4 วันขึ้นไป

3 ปัจจัย “เดินทางสะดวก-ที่พักสุดชิก-ดีลพิเศษ” เลือกแหล่งท่องเที่ยว

โดยที่พักที่มีสไตล์ ส่วนลดโปรโมชั่น และแหล่งรวมคาเฟ่เก๋ ๆ จะเป็นปัจจัยที่ชาว LGBTQIA+ ให้ความสนใจมากกว่านักท่องเที่ยวโดยทั่วไปอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ ชาว LGBTQIA+ ยังมีความมั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยในธุรกิจการท่องเที่ยวมากกว่านักท่องเที่ยวโดยรวมอีกด้วย

พักกาย-พักใจ-ตะลุยกินของอร่อย

ซึ่งกว่า 80% จะท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน อีกทั้งยังเน้นนั่งชิลในคาเฟ่ ตะเวนหาร้านอร่อย รวมถึงการเที่ยวไปทำงานไปมากกว่านักท่องเที่ยวโดยทั่วไป โดยการออกทริปกับก๊วนเพื่อนราว 56% จะเป็นการเที่ยวสายมู ขอพรให้ปัง ขณะที่กลุ่มรักอิสระชอบเดินทางคนเดียว จะสนใจท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเข้าถึงวิถีคนท้องถิ่น

ที่พักสุดปังแบบ LGBTQIA+ ต้องใกล้ชิดธรรมชาติพร้อมอุปกรณ์ทันสมัย และตกแต่งอย่างมีสไตล์ โดยกว่า 44% จะให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ทันสมัย และราว 40% เน้นการตกแต่งของที่พัก โดยเฉพาะทริปเดินทางเป็นคู่ อย่างไรก็ดี ทริปเดินทางคนเดียวและทริปกับครอบครัวส่วนใหญ่จะมองหาที่พักที่ตั้งใกล้แหล่งช็อปปิ้งหรือใจกลางเมือง เพื่อความสะดวกในการเดินทาง นอกจากนี้ ชาว LGBTQIA+ มากกว่า 40% จะเลือกพักโรงแรม 4-5 ดาว โดย 74% จะจองที่พักผ่านผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวออนไลน์เป็นหลัก

3 กลยุทธ์เพิ่มความเฟียร์สให้โดนใจชาว LGBTQIA+  

ทั้งนี้ การนำเสนอแพ็กเกจเที่ยวกับแก๊งเพื่อนแบบ Exclusive ที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ซึ่งครอบคลุมทั้งที่พักสุดชิก บรรยากาศเงียบสงบ เพื่อการพักผ่อนอย่างเต็มที่ และหลีกหนีความวุ่นวาย สอดแทรกไปด้วยกิจกรรมเบา ๆ อวดไลฟ์สไตล์ พร้อมอาหารมื้อพิเศษ และตบท้ายด้วยกิจกรรมความบันเทิงสายปาร์ตี้ในยามค่ำคืน แถมดีลพิเศษที่โดนใจจะสามารถเข้าถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี

ความพร้อมด้านอุปกรณ์ที่ทันสมัยรับเทรนด์ Work from anywhere ซึ่งนักท่องเที่ยวเกือบครึ่งมองหาที่พักที่มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน สอดคล้องกับกระแสเที่ยวไปทำงานไป ซึ่งเป็นรูปแบบท่องเที่ยวที่ชาว LGBTQIA+ ให้ความสนใจมากกว่านักท่องเที่ยวโดยทั่วไปถึง 2 เท่า

การสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้น่าจดจำและดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย เช่น การออกแบบที่พักและการตกแต่งที่มีสไตล์แตกต่าง รวมถึงการนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคล และโปรโมตข้อมูลดังกล่าวให้กับนักท่องเที่ยวผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้