เปิดงบ OR กำไรหายพันล้าน สวนทางยอดขายคาเฟ่อเมซอนพุ่ง 357 ล้านแก้ว

คาเฟ่ อเมซอน

เปิดงบ OR บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก ทำไมกำไรปี 2565 ทำได้ 10,370 ล้านบาท ลดลงไป 1,104 ล้านบาท สวนทางยอดขายกาแฟคาเฟ่อเมซอนพุ่ง 357 ล้านแก้ว เพิ่มขึ้น 19.8%

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น OR ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) เป็นอันดับ 16 ของหลักทรัพย์ทั้งหมดที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ด้วยขนาดมูลค่ากว่า 273,600 ล้านบาท (ข้อมูลล่าสุด 23 ก.พ.2566) ได้ประกาศผลการดำเนินงานปี 2565 ออกมาแล้ว ผลปรากฏว่า

มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 10,370 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 1,104 ล้านบาท หรือลดลง 9.6% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) เฉพาะไตรมาส 4/2565 มีผลขาดทุนสุทธิกว่า 744 ล้านบาท โดยปรับลดลงจากไตรมาส 4/2564 ที่มีกำไรสุทธิ 2,354 ล้านบาท และจากไตรมาส 3/2565 ที่มีกำไรสุทธิ 701 ล้านบาท โดยวันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” จะพาไปเปิดงบการเงินหุ้น OR ว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้กำไรถึงปรับตัวลดลงเช่นนี้

ราคาน้ำมันพุ่ง ดันรายได้ขาย 7.3 แสนล้าน สวนทางกำไรหด

แม้ว่าในปี 2565 ทาง OR จะมีรายได้ขายและบริการกว่า 789,785 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 260,871 ล้านบาท +54.3% YOY แยกเป็นกลุ่มธุรกิจ Mobility จำนวน 736,408 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.9% กลุ่มธุรกิจ Global จำนวน 52,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83.5% กลุ่มธุรกิจ Lifestyle จำนวน 21,082 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% และอื่น ๆ อีกจำนวน 1,061 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.8%

มาจากราคาขายที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และปริมาณขายภาพรวมปรับเพิ่มขึ้น 3,701 ล้านลิตร +16% YOY จากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ โดยหลักในธุรกิจตลาดพาณิชย์ มีปริมาณขายปรับเพิ่มขึ้น 2,345 ล้านลิตร +20.6% YOY

จากน้ำมันอากาศยานที่มีการเดินทางทางอากาศมากขึ้น น้ำมันเตาและดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจากกลุ่มโรงไฟฟ้าที่นำไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูง รวมทั้งยอดขายกลุ่มเรือขนส่งในต่างประเทศเพิ่มขึ้นสำหรับธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน มีปริมาณขายเพิ่มขึ้น 1,356 ล้านลิตร +11.5% YOY จากดีเซลเป็นหลัก

แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ทาง OR มีต้นทุนผลิตภัณฑ์ในส่วนของกลุ่มธุรกิจ Mobility เพิ่มขึ้น และมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานสุทธิปรับเพิ่มขึ้นกว่า 16.8% YOY โดยส่วนใหญ่เป็นค่าขนส่งที่ผันแปรตามยอดขายที่เพิ่ม ค่าประชาสัมพันธ์องค์กรและส่งเสริมการขาย และค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษาทรัพย์สิน

นอกจากนี้ในปี 2565 ยังมีรายการขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพิ่มขึ้นจากการบริหารความเสี่ยงของเงินตราต่างประเทศที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า รวมทั้งมีการตั้งสำรองด้อยค่าเงินลงทุนในประเทศเมียนมา นี่คือทั้งหมดที่เป็นปัจจัยหลักทำให้ OR มีผลขาดทุนสุทธิในปีที่ผ่านมา

ร้านคาเฟ่ อเมซอน
ยอดขายคาเฟ่อเมซอนพุ่ง 357 ล้านแก้ว เพิ่มขึ้น 19.8%

อย่างไรก็ดี ในส่วนกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ที่มีรายได้ขายและบริการ 21,082 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 4,117 ล้านบาท +24.3% YOY นั้นพบว่า ธุรกิจร้านคาเฟ่อเมซอนที่มีอยู่ทั้งหมด 3,895 สาขา (ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย เมียนมา ญี่ปุ่น โอมาน มาเลเซีย และซาอุดีอาระเบีย) ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 267% YOY สนับสนุนปริมาณขายของร้านคาเฟ่อเมซอนสูงถึง 357 ล้านแก้ว หรือเพิ่มขึ้นกว่า 19.8% YOY

“ร้าน Cafe Amazon ในประเทศไทยมีอยู่ 3,875 สาขา จำแนกเป็นสาขาในสถานีบริการ 2,147 สาขา และนอกสถานีบริการ 1,728 สาขา คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 55.4% และ 44.6% ตามลำดับ รวมทั้งมีร้าน Cafe Amazon ในต่างประเทศ จำนวน 20 สาขา”

ส่วนร้านเท็กซัส ชิคเก้น มีเครือข่าย 107 สาขา ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 11% YOY สำหรับร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ มีเครือข่าย 124 สาขา ได้แก่ เพิร์ลลี่ทีและ Pacamara Coffee Roasters สำหรับธุรกิจค้าปลีกอื่น ๆ มีร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ 7-Eleven และภายใต้แบรนด์ จิฟฟี่ ในประเทศไทยอยู่กว่า 2,147 สาขา ซึ่งเพิ่มขึ้น 72% YOY

กาแฟ คาเฟ่ อเมซอน
สินทรัพย์แตะ 2.2 แสนล้าน เพิ่ม 8%

ในส่วนสินทรัพย์รวมของ OR เมื่อสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมาพบว่าอยู่ที่ 225,504 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 17,845 ล้านบาท +8.6% YOY โดยหลักแบ่งเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน เพิ่มขึ้น 10,486 ล้านบาท +8.3% YOY สาเหตุหลักมาจาก

1.ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น เพิ่มขึ้น 34,500 ล้านบาท โดยหลักจากเงินชดเชยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงค้างรับ และลูกหนี้การค้าเพิ่มขึ้น 7,847 ล้านบาท +38.8% YOY เป็นผลจากราคาน้ำมัน ที่ปรับสูงขึ้น

2.สินค้าและพัสดุคงเหลือ เพิ่มขึ้น 2,844 ล้านบาท +11.5% YOY เหตุผลหลักมาจากต้นทุนของน้ำมันสำเร็จรูปที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน เบนซิน และ ดีเซล แต่ภาพรวมปริมาณสินค้าคงเหลือปรับลดลง ประมาณ 78 ล้านลิตร -8.9% YOY

3.เงินลงทุนชั่วคราว/เงินลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินหมุนเวียน ลดลง 18,500 ล้านบาท -92.3% YOY จากเงินลงทุนระยะสั้น ที่ครบกำหนด

4.เงินสด หรือรายการเทียบเท่าเงินสด ลดลง 8,263 ล้านบาท -17.9% YOY โดยหลักคือ การจ่ายคืนเงินกู้ยืมระยะยาว และใช้ไปในกิจกรรมดำเนินงาน

ส่วนสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน เพิ่มขึ้น 7,359 ล้านบาท +9% YOY สาเหตุหลักมาจาก 1.เงินลงทุน เพิ่มขึ้น 6,951 ล้านบาท +70.9% YOY โดยหลักจากเงินลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินระยะยาว 4,155 ล้านบาท เช่น การลงทุนใน Traveloka การลงทุนผ่าน ORZON

เงินลงทุนในบริษัทร่วมค้า 1,707 ล้านบาท เช่น การลงทุนในบริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (KNEX) บริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด (DF) บริษัท โกเบิลแอโร่แอสโซซิเอทส์ จำกัด (GAA) บริษัท Phnom Penh Aviation Fuel Service จำกัด (PPAFS)

นอกจากนี้มีการรับรู้การสำรองด้อยค่าการลงทุนใน บริษัท Brighter Energy Company Limited (BE) และบริษัท Brighter PTT Oil and Retail Business Company Limited (BOR) ในประเทศเมียนมา

เงินลงทุนในบริษัทร่วม 1,088 ล้านบาท เช่น การลงทุนในบริษัท โพลาร์แบร์มิชชั่น จำกัด (freshket), บริษัท คามุ คามุ จำกัด (KAMU)
2.ที่ดินอาคารและอุปกรณ์ เพิ่มขึ้น 1,700 ล้านบาท +4% YOY โดยหลักจากการขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหาร และเครื่องดื่ม คลังเก็บผลิตภัณฑ์ และการลงทุนในถังบรรจุก๊าซหุงต้มและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

3.สินทรัพย์สิทธิการใช้และสินทรัพย์ไม่มีตัวตน ลดลง 910 ล้านบาท -6% YOY จากการตัดค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย รวมถึง สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี ลดลง 730 ล้านบาท -9% YOY

ข้อมูลการเงิน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR

 

หนี้สิน 1.2 แสนล้าน

ในส่วนหนี้สินรวมปี 2565 มีอยู่ทั้งสิ้น 121,743 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,956 ล้านบาท +12.9% YOY โดยแบ่งเป็น 1.หนี้สินหมุนเวียน เพิ่มขึ้น 16,930 ล้านบาท +32.7% YOY สาเหตุหลักมาจากเงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้น เพิ่มขึ้น 4,597 ล้านบาท เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่น เพิ่มขึ้น 12,394 ล้านบาท จากราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น โดยหลักเป็นเจ้าหนี้โรงกลั่นในกลุ่ม ปตท. หักลบบางส่วนกับการจ่ายชำระเจ้าหนี้อื่น

2.หนี้สินไม่หมุนเวียน ลดลง 2,974 ล้านบาท -5.3% YOY สาเหตุหลักมาจากเงินกู้ยืมระยะยาวลดลง 5,013 ล้านบาท -17% จากการจ่ายคืนเงินกู้ที่หักลบกับเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นระหว่างงวด หนี้สินภาษีเงินได้รอตัดบัญชี เพิ่มขึ้น 1,699 ล้านบาท จากผลของเงินชดเชยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและภาษี สรรพสามิตค้างรับ