หนี้เสียโควิด ส่อทะลุ 5 ล้านบัญชี เตือน “เลิกรหัส 21” ดัน NPL ทะลัก

หนี้เสียโควิด

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต ได้ออกประกาศ “การสิ้นสุดการใช้รหัสสถานะบัญชี 21 และ 021 กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” โดยใจความสำคัญจะเป็นการ “ยุติการใช้รหัสหนี้เสีย 21” ตั้งแต่หลังเดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นไป

หรือจะยกเลิก “รหัส 21” ในอีก 6 เดือนข้างหน้านั่นเอง

ประเด็นนี้เองทำให้มีข้อกังวลจาก “สมาชิกเครดิตบูโร” ว่า ช่วงเวลาที่ทอดยาวออกไปนี้ อาจจะทำให้ลูกหนี้ที่เคยชำระหนี้ได้ปล่อยให้ตัวเองกลายเป็นหนี้เสียกันมากขึ้น เนื่องจากอีกไม่นานรัฐบาลก็จะมีมาตรการ “พักหนี้ รหัส 21” ออกมา

โดยสถานการณ์ปัจจุบันก็มีการไหลของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของลูกหนี้รหัส 21 เพิ่ม ในช่วงตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 มาถึงเดือนสิงหาคม 2566 ถึงประมาณ 1 แสนบัญชีแล้ว คิดเป็นยอดหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นราว 7,000 ล้านบาท

สอดคล้องกับที่ “สุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) โพสต์เฟซบุ๊ก “Surapol Opasatien” ตั้งคำถามว่า หากหยุดใช้รหัสดังกล่าวล่าช้าออกไป อาจจะทำให้มีคนตั้งใจ จะกลายเป็นหนี้เสียเพราะโควิด เพื่อให้ได้ประโยชน์จากโครงการที่กำลังจะมีมาหรือไม่ พร้อมระบุด้วยว่า ควรจะหยุดการใช้รหัส 21 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ซึ่งจะครบ 2 ปีที่ใช้รหัสนี้มาพอดีจะเหมาะสมกว่า

ขณะที่ “ชัยยศ ตันพิสุทธิ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เชื่อว่าไม่มีลูกหนี้รายใดต้องการเป็นหนี้เสีย เพื่อจะเข้ามาตรการช่วยเหลือ เพราะหลายคนกังวลเรื่องประวัติเครดิตอยู่แล้ว จึงมองว่าไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องนี้ ขณะเดียวกัน การยกเลิกรหัส 21 ไม่ได้มีผลให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อ หรือไม่ปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากธนาคารต้องดูประวัติลูกหนี้ที่จะเข้ามาขอสินเชื่อย้อนหลัง 36 เดือนในการพิจารณาอยู่แล้ว

ดังนั้น แม้ว่าจะมีการยกเลิกรหัสดังกล่าว ก็ไม่ได้สะท้อนว่าลูกหนี้จะได้รับสินเชื่อ ซึ่งภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังมีปัจจัยเสี่ยง ธนาคารมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว รวมถึงมีการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่อง

“การยกเลิกลูกหนี้รหัส 21 ไม่ได้บอกว่ายกเลิกแล้ว ลูกหนี้จะกู้เงินได้ เพราะแบงก์ก็ยังคงดูประวัติย้อนหลัง 36 เดือนอยู่ดีก่อนปล่อยสินเชื่อ ซึ่งหากเราเอารหัส 21 ออก จะทำให้ถังข้อมูลเปลี่ยนไป และไม่ตรงกัน นักลงทุนอาจจะมองตรงนี้”

ด้าน “บุรินทร์ อดุลวัฒนะ” กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า การยกเลิกรหัส 21 ถือว่าดีและเหมาะสม เนื่องจากจะช่วยป้องกันการสร้างวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ (moral hazard)

อย่างไรก็ดี การยกเลิกควรจะต้องมีผลย้อนหลัง เช่น ตั้งแต่ต้นปี 2566 หรือกลางปี 2566 ไม่ควรตัดสิ้นสุดในระยะข้างหน้า เช่น ให้มีผลในปี 2567 เพราะจะทำให้เกิดแรงจูงใจลูกหนี้ปล่อยให้เป็นเอ็นพีแอลก่อนวันกำหนดยกเลิกรหัสสถานะบัญชี 21 เพื่อที่จะเข้ามาตรการการช่วยเหลือของภาครัฐได้

“เชื่อว่าภาครัฐจะต้องมีเกณฑ์การพิจารณาการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยนำข้อมูลลูกหนี้รหัส 21 มาพิจารณาเป็นไกด์ไลน์ แต่คงไม่ได้เป็นการช่วยเหลือทั้งหมด เพราะจะเป็นภาระทางการคลังค่อนข้างมาก”

ทั้งนี้ แนวโน้มลูกหนี้รหัส 21 จากข้อมูลของเครดิตบูโร ประเมินว่า ในระยะข้างหน้าหนี้เสียยังมีโอกาสมีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าภายในไตรมาสที่ 3/2566 น่าจะเห็นเป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นทะลุ 5 ล้านบัญชี หรือราว 4 แสนล้านบาท เพิ่มจากไตรมาส 2/2566 ที่อยู่ที่ 4.9 ล้านบัญชี หรือ 3.4 ล้านราย มูลค่าหนี้เสีย 3.7 แสนล้านบาท

“การยกเลิกลูกหนี้บัญชี 21 ถือว่าเหมาะสม เพราะระยะเวลาการเกิดโควิดและผลกระทบจากโควิดก็ดำเนินมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว คิดว่าลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดน่าจะเริ่มหมด ถ้ามีอีกจะเป็นลูกหนี้ที่เกิดจากเหตุผลอื่นทางด้านเศรษฐกิจ จึงเป็นข้อควรระวังที่ภาครัฐอาจจะต้องดู แต่เชื่อว่าภาครัฐจะนำข้อมูลตรงนี้มาเป็นหนึ่งในเกณฑ์การช่วยเหลือ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ขณะเดียวกัน ควรมีแรงจูงใจให้การปรับโครงสร้างหนี้มากกว่า”

ส่วนภาพรวมหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทั้งระบบ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่ายังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังมีปัจจัยเสี่ยง ขณะที่รัฐบาลเพิ่งจัดตั้ง และเพิ่งเริ่มทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น ผลจากมาตรการอาจยังต้องใช้เวลา

ด้านแหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผยว่า ในวันที่ 4 ต.ค. 2566 นี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้นัดหารือกับสมาคมธนาคารไทย และสภาหอการค้าไทย ภายใต้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อหารือร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นเรื่องมาตรการพักหนี้ ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรก เพื่อดูว่าจะสามารถช่วยเหลือ หรือมีแนวทางอะไรบ้าง

เนื่องจากภาครัฐไม่สามารถบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ทำมาตรการพักหนี้ได้โดยตรง และผู้ประกอบการเอกชนเริ่มกังวลในมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ จึงจะมีการพูดคุยร่วมกันในวันเวลาดังกล่าว