หนี้เสียทุบตลาดปิกอัพร่วง 20% ค่ายรถแก้เกมจับลูกค้าราชการ

ไทรทัน
ไทรทัน

ค่ายรถพลิกเกมปรับทิศทำตลาดรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหวังดันยอดปิกอัพฟื้น หลังจาก 8 เดือนหดตัวกว่า 20% เดินเกมผนึกไฟแนนซ์ จัดแพ็กเกจเช่าซื้อใหม่ซบลูกค้าราชการหนีปัญหาหนี้เสีย สภาฯอุตส่งสัญญาณเดือนหน้าหากกำลังซื้อไม่ดีขึ้นเตรียมปรับลดเป้าการผลิตอีกระลอก แย้มยอดรถสันดาปร่วงแต่ EV พุ่งแรง

นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ 8 เดือนที่ผ่านมายังหดตัวต่อเนื่อง ปริมาณการขาย 524,784 คัน ลดลง 6.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตลาดรถยนต์นั่ง ทำได้ 194,243 คัน โตขึ้น 9.4% แต่รถเพื่อการพาณิชย์ลดลงถึง 13.5% โดยเฉพาะรถปิกอัพขายลดลงถึง 26.8% จากปัจจัยลบทางด้านเศรษฐกิจที่ยังไม่ลื่นไหล ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของธุรกิจขนส่ง

ปิกอัพทรุดไม่หยุด

“ประเด็นสำคัญคือความเข้มงวดของสถาบันการเงิน ที่มีความกังวลต่อหนี้เสียอันเป็นผลต่อเนื่องที่เกิดจากสภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา”

สำหรับสถิติการจำหน่ายรถปิกอัพตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนสิงหาคม 2566 มีปริมาณการขาย 189,555 คัน ลดลง 26.8% อันดับที่ 1 อีซูซุ ทำได้ 83,654 คัน ลดลง 29.5% อันดับที่ 2 โตโยต้า 75,061 คัน ลดลง 23.9% อันดับที่ 3 ฟอร์ด 17,493 คัน ลดลง 8.4% ส่วนค่ายอื่น ๆ ลดลงเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากกำลังซื้อที่ลดลงและส่งผลต่อการขายรถ ทำให้ผู้ประกอบการทุกรายต่างดิ้นแก้ปัญหา เพื่อลดความเข้มงวดของสถาบันการเงิน

ผนึกสินเชื่อจัดแพ็กเกจเสริม

แหล่งข่าวดีลเลอร์ขายรถยนต์รายใหญ่ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑลกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนรวมทั้งหนี้เสีย มีผลต่อการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตอนนี้ยอดรีเจ็กต์สินเชื่อค่ายรถเพิ่มขึ้นเกือบ 20% ถือว่าเยอะมาก ทำให้ต้องทำงานใกล้ชิดกับไฟแนนซ์มากขึ้น มีการจัดแพ็กเกจเพื่อให้ลูกค้าสามารถเป็นเจ้าของรถได้ง่ายขึ้น ทั้งรูปแบบยืดเวลาการผ่อนให้ยาวเพื่อทำให้การผ่อนต่องวดถูกลง แก้ปัญหาโอกาสหนี้เสียที่จะตามมาในอนาคต

“ลูกค้าบางรายทำธุรกิจค้าขาย ไม่ได้ทำงานประจำ ไม่มีสลิปเงินเดือน เราก็ต้องช่วยจัดการ หาวิธีแสดงให้ไฟแนนซ์เห็นว่า เขามีรายได้จริง ๆ สร้างความมั่นใจว่าซื้อรถเราไปไม่เป็นหนี้เสียแน่นอน หรือบางรายก็ต้องเจรจากับลูกค้าด้วยเพิ่มเงินดาวน์ ซึ่งก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง”

นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ซูซูกิก็เตรียมแพ็กเกจให้ลูกค้าเป็นเจ้าของรถยนต์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็ช่วยภาวะการขายได้มาก และเชื่อว่าค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ก็คงใช้เงื่อนไขที่มีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ

หันจับลูกค้าราชการ

แหล่งข่าวดีลเลอร์มิตซูบิชิย่านลาดยาว บางเขน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ต้องไปเน้นกลุ่มลูกค้าราชการให้มากขึ้น ตอนนี้ Pajero Sport ก็มีข้อเสนอดอกเบี้ยพิเศษ 1.09% นาน 48 เดือน และสำหรับข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ เมื่อซื้อรถยนต์มิตซูบิชิ Pajero Sport รุ่นปี 2023 รับส่วนลดเพิ่ม 40,000 บาท และรับสนับสนุนอุปกรณ์ตกแต่งมูลค่าไม่เกิน 15,000 บาท ในรุ่นปี 2023 GT-Plus และสนับสนุนอุปกรณ์ตกแต่งไม่เกิน 10,000 บาท ในรุ่นปี 2023 GT-Premium

หนีสันดาปซบ EV

แหล่งข่าวระดับบริหารจากสภาอุตสาหกรรมยานยนต์กล่าวว่า ตลาดรถยนต์ที่หดตัวมาจากกำลังซื้อผู้บริโภคอยู่ระหว่างการพิจารณาในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากน้ำมัน ไปยานยนต์ไฟฟ้า โดยอยู่ในช่วงลังเล ยังไม่ตัดสินใจซื้อรถสันดาป ขณะที่จะซื้อรถ EV ก็กลัวการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

เช่นเดียวกับ นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า ตลาดรถยนต์หดตัวเมื่อเทียบ
ปีที่ผ่านมา ตลาดที่กระทบหนักคือปิกอัพ ส่วนรถยนต์นั่งยังสามารถรักษายอดขายให้เติบโตได้ ความจริงถือว่ายังโตแบบคงที่

“MG โชคดีที่มีรถยนต์ไฟฟ้าที่มากรุ่นที่สุด สิ่งที่เราคงต้องพิจารณาคือการจัดหาซัพพลายให้เหมาะสมกับปริมาณความต้องการในช่วงโค้งสุดท้ายของนโยบายการสนับสนุนการใช้รถไฟฟ้าของภาครัฐที่จะสิ้นสุดในปีนี้”

ยอดรถ EV พุ่ง 700%

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา รถ EV มียอดขายมากกว่า 6,000 คัน โตมากกว่า 700% สวนทางกับรถใช้น้ำมันที่มียอดขายลดลงมากกว่า 20%

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า ยอดผลิตรถยนต์เดือน ส.ค. 2566 ผลิตได้ 150,657 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.27% จากปัจจัยการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง ส่งผลให้ 8 เดือนของปี ประเทศไทยผลิตรถยนต์ได้ 516,010 คัน ลดลง 5.25%

“ส.อ.ท.ต้องติดตามสถานการณ์การผลิตรถยนต์อีก 1 เดือน เพราะมีแนวโน้มยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศจะไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ 850,000 คัน แต่จะมากน้อยเพียงใดคงจะต้องดูมาตรการภาครัฐที่เริ่มกระตุ้นกำลังซื้อ การลดค่าครองชีพประชาชนทั้งค่าไฟ ราคาน้ำมันและอื่น ๆ”

จ้องลดกำลังผลิต

หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องปรับเป้าหมายการผลิตปี 2566 ลดลงจากเดิมที่วางไว้ 1,900,000 คัน ยอดผลิตเพื่อส่งออกมีเพิ่มขึ้นในตลาดออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ 8 เดือนของปีนี้ประเทศไทยส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 724,423 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 19.53% มูลค่าการส่งออก 456,983.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 24.18%