จี้ “บัตรเครดิต” พยุงลูกหนี้ ดูแลกลุ่มจ่ายขั้นต่ำ 8% ไม่ไหว

บัตรเครดิต

ผ่านมาได้สักระยะหนึ่งแล้วที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต แจ้งลูกค้าให้รับรู้รับทราบถึงการขยับอัตราชำระหนี้ขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 8% จากเดิมลดลงไป 5% ตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

ธปท.จี้ดูแลลูกค้าผ่อนไม่ไหว

โดย “สุวรรณี เจษฎาศักดิ์” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ธปท.ได้สื่อสารไปยังผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต 12 ราย ทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) เพื่อให้สื่อสารไปยังลูกค้าให้ทราบถึงการปรับชำระขั้นต่ำ (minimum payment) จาก 5% เป็น 8% ในเดือน ม.ค. 2567

ซึ่งทั้ง 12 แห่งได้มีการสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ แล้ว ทั้งผ่านใบแจ้งหนี้ โมบายแบงกิ้ง คอลเซ็นเตอร์ รวมถึงสาขาธนาคาร เป็นต้น

เบื้องต้นพบว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่ที่มีการชำระเกิน 10% มีสัดส่วนสูง 80% แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีลูกหนี้บางส่วนที่ไม่สามารถชำระได้ เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง และรายได้ยังไม่ได้กลับมา

ดังนั้นสิ่งที่ ธปท.พยายามทำเพื่อลดผลกระทบคือกำหนดให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ โดยการเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตไปเป็นสินเชื่อแบบมีระยะเวลา (term loan)แต่ต้องปิดวงเงินบัตรเครดิตด้วยเพื่อไม่ก่อหนี้เพิ่ม โดยคิดดอกเบี้ย 16% ต่อปี

“เราได้ลองโทร.ไปยังคอลเซ็นเตอร์ของ 12 แห่ง ทุกแห่งมีการสื่อสารและมีแพ็กเกจโอนประเภทหนี้เป็นเทอมโลนช่วยเหลือลูกค้าหมดแล้ว แต่ที่คุยกับแบงก์ จะมีลูกหนี้บางส่วน อาจจะไม่ยอมปิดวงเงินบัตรเครดิต ซึ่งต้องดูว่าจะมีคนสามารถปรับขั้นต่ำเป็น 8% ได้ หรือคนที่จ่ายไม่ไหว ซึ่งเราเป็นห่วง ไม่ไหว แล้วไม่ยอมเปลี่ยนประเภทหนี้ ไม่ปิดหนี้ เพราะยังอยากรูดบัตร ตรงนี้ยังไม่รู้ว่ามีเท่าไหร่ แต่คิดว่าไม่เยอะ”

ธุรกิจบัตรเครดิตยันพร้อมรับมือ

ขณะที่ “อธิศ รุจิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการบัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน (GCS) และในฐานะประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย (TBA) กล่าวว่า ตามแนวทางของ ธปท.จะปรับการ
ชำระขั้นต่ำจาก 5% เป็น 8% ในปี 2567 และปรับเพิ่มเป็น 10% ในปี 2568 โดยขณะนี้บริษัทได้สื่อสารประชาสัมพันธ์แจ้งให้ลูกค้าทราบแล้ว เพื่อให้ลูกค้าเตรียมตัวก่อนมีผลบังคับใช้ในปีหน้า รวมถึงบริษัทยังได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือไว้รองรับ เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น

“การปรับอัตราการชำระขั้นต่ำเชื่อว่าน่าจะกระทบค่อนข้างมาก แต่อาจจะยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากจะต้องรอดูสถานการณ์ในอีก 6 เดือนข้างหน้า จึงจะเห็นผลกระทบชัดเจน และกลับมาดูคุณภาพลูกค้าว่า มีภาระหนี้สูงเกินไปหรือไม่ แต่ระหว่างทาง เราก็ช่วยลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้”

คาดค่างวดขยับขึ้น 1 พันบาท

“จเร เจียรธนะกานนท์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า กรณีที่ลูกค้าไม่สามารถชำระได้ หรือมีปัญหา ธนาคารจะมีมาตรการช่วยเหลือไว้รองรับ ผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้จากจ่ายขั้นต่ำปรับเป็นงวดระยะยาว

“จากการประเมินพอร์ตสินเชื่อธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคาร เบื้องต้นผลกระทบคงไม่เยอะมาก เนื่องจากเป็นการทยอยปรับ โดยในปี 2567 จะปรับเป็น 8% ซึ่งจะทำให้เงินงวดเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน ถือว่ายังไม่สูงมาก”

“ประณยา นิถานานนท์” ผู้บริหารสูงสุด สายงานการตลาดบัตรเครดิต บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) กล่าวว่า ประเมินว่าไม่มีผลกระทบต่อพอร์ตบัตรเครดิตของบริษัทมากนัก เนื่องจากสัดส่วนการชำระขั้นต่ำมีค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ยังสามารถผ่อนชำระได้ตามปกติ อย่างไรก็ดี เคทีซีได้ติดตามดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และมีมาตรการช่วยเหลือกรณีที่ลูกค้ามีปัญหาการชำระหนี้ไว้รองรับอยู่แล้วในปัจจุบัน

“เราพร้อมติดตามและให้การช่วยเหลือลูกค้าที่มีปัญหาเต็มที่”

เริ่มปี’67 อาจไม่ใช่จังหวะที่ดี

“นันทวัฒน์ โชติวิจิตร” กรรมการบริหาร ฝ่ายการตลาด บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าชำระขั้นต่ำ 5% ประมาณ 50% ซึ่งในจำนวนดังกล่าวจะมีกลุ่มที่แม้จะปรับขั้นต่ำเป็น 8% ยังสามารถชำระได้ แต่ก็มีบางกลุ่มที่ชำระไม่ไหว หรืออาจจะสะดุดในช่วง 2-3 เดือนแรก หลังปรับขั้นต่ำ เพราะอาจจะต้องปรับตัว ส่วนที่เหลืออีก 50% จะเป็นกลุ่มที่ชำระเกินขั้นต่ำ 10% หรือจ่ายเต็ม

“กรณีลูกค้าที่ไม่สามารถชำระไหว บริษัทจะมีมาตรการช่วยเหลือไว้รองรับ เช่น สินเชื่อ care loan จะเป็นการยืดระยะเวลาผ่อนชำระ และปรับลดวงเงินผ่อนต่อเดือนลง รวมถึงมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ (restructure loan) ซึ่งเป็นมาตรการที่ทุกแห่งมีไว้รองรับอยู่แล้ว”

ทั้งนี้ การปรับชำระขั้นต่ำ อาจจะทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะค่างวดจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 700-1,000 บาทต่องวด ถือว่าไม่มากนัก

“อย่างไรก็ดี การปรับในปี 2567 ไม่ใช่ช่วงจังหวะที่ดี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ แม้ว่าการท่องเที่ยวจะดี แต่รายได้ยังคงกระจายไม่ทั่วถึง ต้องยอมรับว่าลูกหนี้บางรายอาจจะชำระหนี้ไม่ไหว” กรรมการบริหาร ฝ่ายการตลาด อิออนฯกล่าว