“เศรษฐา” สั่งเคลียร์หนี้ทั้งระบบ “พักหนี้-ยืดหนี้” อุ้ม 12 ล้านบัญชี

เศรษฐา แก้หนี้

“เศรษฐา” แถลงใหญ่แก้หนี้ทั้งระบบ ยกเลิกสถานะหนี้เสีย ปรับโครงสร้างหนี้ SMEs-พักชำระหนี้รายย่อยโดนผลกระทบโควิด แถมลดดอกเบี้ย 1% ลูกหนี้มีรายได้ประจำ ครู 9 แสนราย ให้หักเงินเดือนไปชำระหนี้ได้ไม่เกิน 70% ยืดหนี้รายย่อยผ่อนนาน 10 ปี ดอกเบี้ยบัตรเครดิตเหลือ 3-5% เคลียร์ลูกหนี้ กยศ. 5 ล้านคน

วันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พร้อมด้วย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงข่าวแนวทางแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ

นายเศรษฐากล่าวว่า ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนาน ทั้งในส่วนของหนี้นอกระบบ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ตามที่แถลงนโยบายที่ทำเนียบรัฐบาลไปแล้วเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน และอีกครั้งเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา

แบ่งหนี้ 4 กลุ่ม

นายเศรษฐากล่าวว่า ขอแบ่งกลุ่มลูกหนี้ในระบบที่ประสบปัญหาออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมาก จนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้ กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง และกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่เป็นหนี้เสียคงค้าง เป็นระยะเวลานาน

พักหนี้ SMEs-รายย่อย 1 ปี

นายเศรษฐากล่าวว่า สำหรับลูกหนี้ในกลุ่มที่ 1 คือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ขาดสภาพคล่อง จนไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ ต้องได้รับการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสีย หรือได้รับการพักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระเป็นการชั่วคราว

สำหรับลูกหนี้รายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่มีหนี้เสียกับธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. รัฐบาลจึงกำหนดให้ธนาคารทั้งสองแห่ง ติดตามทวงถามหนี้ตามสมควร และให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้ คาดว่าจะช่วยเหลือได้ประมาณ 1.1 ล้านราย

ส่วนลูกหนี้ SMEs สถาบันการเงินของรัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ที่อยู่กับแบงก์รัฐ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs เหล่านี้จำนวนกว่า 100,000 ราย

แก้หนี้ ข้าราชการ-มนุษย์เงินเดือน

นายเศรษฐากล่าวว่า สำหรับกลุ่มที่ 2 คือลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพ ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ที่มักจะมีหนี้กับสถาบันการเงิน และกลุ่มที่เป็นหนี้บัตรเครดิตจะได้รับการช่วยเหลือผ่าน 3 แนวทาง แนวทางแรก คือการลดดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ให้สูงจนเกินไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำและถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ

แนวทางที่สอง จะต้องโอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว เช่น ที่สหกรณ์ เพื่อให้การตัดเงินเดือนนำมาชำระหนี้ทำได้สะดวก หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือน ให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี

“ครูและบุคลากรทางการศึกษา ปัจจุบันมีครูกว่า 900,000 ราย ที่ประสบปัญหาหนี้สิน

ขรก.ปรึกษาออมสิน

นายเศรษฐากล่าวว่า ดังนั้นหากหน่วยงานอื่น ๆ พบว่าข้าราชการในสังกัดกำลังประสบปัญหาหนี้สิน ขอให้ปรึกษาหารือกับธนาคารออมสิน เพื่อขอสินเชื่อในลักษณะเดียวกันนี้ก็ได้

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการก็มีระเบียบกำหนดให้ครูต้องมีเงินเดือนเหลือจ่ายอย่างน้อยร้อยละ 30 หลังจากตัดจ่ายหนี้ไปแล้ว

ยืดหนี้ลดดอกเบี้ยเหลือ 3-5%

สำหรับลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล หากเป็นหนี้เสีย ก็จะสามารถเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ / ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับเจ้าหนี้บัตรเครดิตรายใหญ่เกือบทั้งหมด ช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ โดยนำเงินต้นคงค้าง มาทำตารางผ่อนชำระใหม่ให้ยาวถึง 10 ปี และลดดอกเบี้ย จากร้อยละ 16-25 เหลือเพียงร้อยละ 3-5 เท่านั้น

ปรับโครงสร้างหนี้ กยศ.

สำหรับลูกหนี้ กยศ. ซึ่งบางส่วนไม่มีงานทำหรือมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้ กยศ. หลังจากจบการศึกษา กยศ. ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการลดดอกเบี้ย ลดเบี้ยปรับ เปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ และยกเลิกผู้ค้ำประกัน ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยลูกหนี้ กยศ.ได้กว่า 2.3 ล้านราย

คุมดอกเบี้ยรถยนต์-จยย.

สำหรับลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกประกาศเพื่อกำหนดดอกเบี้ยเช่าซื้อ เช่น ในกรณีเช่าซื้อรถใหม่ต้องคิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 10 ต่อปี และกรณีรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินร้อยละ 23 ต่อปี และลดดอกเบี้ยผิดนัด ให้ต่ำลง รวมทั้งให้ส่วนลดหากลูกหนี้สามารถปิดบัญชีได้ก่อนกำหนด

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และ สคบ.อยู่ระหว่างการปรับแนวทางกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ลดความเสี่ยงเชิงระบบ และรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินในภาพรวมต่อไป

โอนหนี้แบงก์รัฐไป AMC

นายกฯกล่าวอีกว่า สำหรับลูกหนี้กลุ่มที่ 4 กลุ่มนี้เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐ มาเป็นระยะเวลานาน กลุ่มนี้จะโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น คาดว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 3 ล้านราย

ยกระดับการปล่อยสินเชื่อ

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ในระยะเร่งด่วน เพื่อต่อลมหายใจให้ลูกหนี้ทุกกลุ่ม ในระยะยาว ควรมีการแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง โดยยกระดับการให้บริการสินเชื่อให้เหมาะสมและเป็นธรรม

ซึ่งกระทรวงการคลังได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดทำแนวทางเพื่อยกระดับการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อ ให้สะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ได้มากขึ้น เป็นธรรม มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม

และป้องกันปัญหาการก่อหนี้เกินศักยภาพ เช่น หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้สถาบันการเงิน ต้องคำนวณอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ และกำหนดให้การผ่อนชำระสินเชื่อ ต้องให้ผู้กู้ยืมมีเงินเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพ

ครอบคลุมลูกหนี้ 5 ล้านราย

ด้านนายกิตติรัตน์ กล่าวถึงจำนวนลูกหนี้ทั้งระบบว่า การชี้แจงเรื่องหนี้ทั้งระบบ ครอบคลุมหนี้ครัวเรือน 16 ล้านล้านบาท มากกว่าร้อยละ 90 ของจีดีพี ซึ่งรวมกับสินเชื่อสหกรณ์และ ธ.ก.ส. ส่วนที่เป็นบัตรเครดิต ตัวเลขยอดหนี้รวมอาจไม่สูงนัก 5.4 แสนล้านบาท เป็นหนี้ที่กำลังมี 6.7 หมื่นล้านบาท จากผู้ถือบัตรเครดิต 23.8 ล้านใบ กำลังน่าเป็นห่วง 1.1 ล้านใบ

ดังนั้นที่นายกฯบอกครอบคลุมทุก ๆ ประเภท หนี้เกษตรกรและ SMEs ด้วย ส่วนจะครอบคลุมจำนวนประชากรที่เป็นปัญหา ครอบคลุม 5 ล้านคน แต่ถ้าดูตามจำนวนบัญชี 12 ล้านบัญชี

ส่วนหนี้บัตรเครดิต ที่ลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 3-5 เฉพาะที่เข้าร่วมการปรับโครงสร้างหรือไม่ นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ผู้ถือบัตรเครดิตทุกราย 23 ล้านใบ เป็นหนี้ที่ดี และชำระได้ดีเป็นส่วนใหญ่ แต่จำนวนหนึ่งที่เริ่มเป็นปัญหา เขาสามารถใช้สิทธิแก้หนี้บัตรเครดิตได้ทันที ซึ่งเป็นโครงการของ ธปท. และขอเชิญชวนให้เข้า อัตราร้อยละ 3-4- 5 ขึ้นอยู่กับขนาดของเงินและจำนวนปีที่ขอผ่อน แต่ถ้าเป็นหนี้ปกติก็อยากให้ชำระไปตามปกติ ถ้าครบเดือนก็ชำระไปตามปกติ