เศรษฐกิจไทยปี 2566 กำลังผ่านไปแบบว้าวุ่นพอสมควร

เศรษฐกิจไทยว้าวุ่น
คอลัมน์ : เช้านี้ที่ซอยอารีย์
ผู้เขียน : ดร.พงศ์นคร โภชากรณ์ ([email protected])

ต้องบอกว่าปี 2566 เป็นปีที่นักเศรษฐศาสตร์ “ว้าวุ่น” พอสมควร เพราะวิเคราะห์เศรษฐกิจกันได้คลาดเคลื่อนมากที่สุดอีกปีหนึ่ง ต้นปีคิดว่าจะขยายตัวได้ดี แต่ปลายปีกลับไม่ดีอย่างที่คิดเอาไว้ ผมลองรวบรวมปัญหาความว้าวุ่นของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ ๆ ไว้ 5 ตัวด้วยกัน ได้แก่

ตัวที่ 1 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯลดลง วันแรกของปีคือวันที่ 3 มกราคม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯปิดที่ 1,678 จุด ล่าสุดที่ผมเขียนบทความนี้ วันที่ 12 ธันวาคม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯปิดที่ 1,373 จุด หรือลดลง 300 จุด และตกพร้อม ๆ กันทุกหมวด ตัวนี้น่าจะเป็นตัวสะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจได้ดี เพราะราคาหุ้นมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจภายในประเทศมากที่สุด

ตัวที่ 2 เศรษฐกิจภาพรวมชะลอตัว ต้นปีหลายหน่วยงานคาดกันว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 3 ต่อปี แต่ของจริงปรากฏว่าไตรมาสที่ 1 ขยายตัวได้ร้อยละ 2.6 ต่อปี ไตรมาสที่ 2 ขยายตัวได้ร้อยละ 1.8 ต่อปี และไตรมาสที่ 3 ล่าสุดขยายตัวได้ร้อยละ 1.5 ต่อปีเท่านั้น และระหว่างทาง ทุกหน่วยงานทยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงตาม ๆ กัน

สะท้อนให้เห็นว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2566 ชะลอตัวลงชัดเจน แถมในไตรมาสที่ 4 ยังได้รับผลกระทบจากการอัดฉีดเม็ดเงินลงระบบเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่จากการทำงบประมาณปี 2567 ล่าช้า เข้ามาผสมโรงด้วย

ตัวที่ 3 การส่งออกหดตัว ตัวนี้คือเครื่องยนต์ใหญ่สุดของเศรษฐกิจไทย เดิมทีเดียวทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เคยประชุมร่วมกันและคาดกันว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าน่าจะบวกได้เล็กน้อย หรืออาจจะติดลบได้เล็กน้อย เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกตอนต้นปีถือว่าใช้ได้ แต่ระหว่างทางกลับขยายตัวได้ไม่ดีนัก และแม้ 3 เดือนหลัง อัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าจะกลับมาเป็นบวกแล้วก็ตาม แต่การส่งออกของไทย 10 เดือนแรก ยังคงหดตัวร้อยละ -2.7 ต่อปี

ตัวที่ 4 รายได้เกษตรกรที่แท้จริงหดตัว ใน 24 ล้านครัวเรือนทั้งประเทศ เป็นครัวเรือนเกษตรกร 9 ล้านครัวเรือน สมมติมีสมาชิกบ้านละ 2 คน ก็เท่ากับ 18 ล้านคน ถือเป็นกลุ่มอาชีพที่ใหญ่ที่สุด และเป็นฐานการบริโภคที่สำคัญที่สุด ผลจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มเพียงเล็กน้อย แต่ราคาพืชผลลดลงมากกว่า ทำให้ 10 เดือนแรก รายได้เกษตรกรที่ขจัดผลของเงินเฟ้อแล้ว หดตัวร้อยละ -2.8 ต่อปี ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีพของครัวเรือนฐานราก

ตัวที่ 5 หนี้ครัวเรือนสูงมานาน ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ร้อยละ 90.7 ของ GDP สูงเกินร้อยละ 80 ของ GDP และจากข้อมูล 6 เดือนแรกของปีนี้พบว่า สัดส่วนครัวเรือนที่เป็นหนี้อยู่ที่ร้อยละ 48.5 ของครัวเรือนทั้งหมด ลดลงจาก 2 ปีก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 51.5 แต่กลับมียอดหนี้รวมทั้งในระบบและนอกระบบที่ 208,000 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นจาก 2 ปีก่อนที่อยู่ที่ 205,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งมีผลต่อการบริโภคของครัวเรือนฐานรากอย่างมากแน่นอน

ภายใต้ความว้าวุ่นทั้ง 5 ตัวข้างต้นนั้น ดูเหมือนจะมีปัญหาหนี้ครัวเรือนเท่านั้น ที่มีปัญหาสะสมมาอย่างยาวนาน แก้ได้ยาก ในขณะที่ปัญหาอีก 4 ตัว น่าจะค่อย ๆ คลี่คลายไปเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้ปัญหาข้างต้น เศรษฐกิจไทยยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งแฝงอยู่ อย่างน้อย ๆ ก็ 5 ตัว ถือเป็นภูมิคุ้มกันที่ทำให้เราแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยได้ง่าย ๆ และจะช่วยให้เราก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจ ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังมากนัก ภูมิคุ้มกัน 5 ตัว ได้แก่

ตัวที่ 1 เสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคแข็งแกร่ง ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 2.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อต่ำเพียงร้อยละ 1.4 ต่อปี และยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงานก็ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงาน

ตัวที่ 2 ฐานะการคลังมั่นคง ทั้งปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565-กันยายน 2566) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิได้ 2.66 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1.1 แสนล้านบาท เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ 5.39 แสนล้านบาท ส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 62.1 ต่อ GDP ยังอยู่ในกรอบกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ

ตัวที่ 3 เสถียรภาพการเงินไร้กังวล โดยธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่า เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ณ สิ้นไตรมาส 3 อยู่ที่ร้อยละ 19.9 สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 8.5 ส่วนหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่ประมาท

ตัวที่ 4 ขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นแบบหน้ากระดาน อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันล่าสุด โดย IMD ของไทยอยู่ที่ 30 ของโลก ปรับตัวดีขึ้น 3 อันดับจากช่วง COVID-19 โดยเพิ่มขึ้นทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ศักยภาพทางเศรษฐกิจดีขึ้น 18 อันดับ ประสิทธิภาพของภาครัฐดีขึ้น 7 อันดับ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจดีขึ้น

7 อันดับ และโครงสร้างพื้นฐานดีขึ้น 1 อันดับ

ตัวที่ 5 ความเชื่อมั่นหลายด้านกลับมา โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 60.2 สูงสุดในรอบ 44 เดือน และถ้าดูความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 10 เดือนแรกอยู่ที่ 55.7 สูงกว่าปีที่แล้วอย่างมากที่อยู่ที่ 43.9 เท่านั้น ความเชื่อมั่นของ MSMEs เดือนตุลาคม 2566 ดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.3 การจัดอันดับความน่าเชื่อถือโดย S&P และ Fitch คงอันดับไว้ที่ BBB+

ซึ่งถือเป็นมุมมองที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) และอีกตัวที่สะท้อนความเชื่อมั่นได้เหมือนกัน คือ นักท่องเที่ยวต่างประเทศ ตั้งแต่ 1 มกราคม-10 ธันวาคม 2566 มีจำนวน 25.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 167 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สร้างรายได้ทะลุ 1 ล้านล้านบาทไปแล้ว

โดยสรุป แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีความว้าวุ่นพอสมควร เพราะยังมีปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการเยียวยารักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง “โตต่ำ หนี้สูง” แต่ด้วยพื้นฐานและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่มั่นคง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้ง “ด้านมหภาค ด้านการคลัง และด้านการเงิน” ถือเป็น “ภูมิคุ้มกันชั้นเยี่ยม” ที่ทำให้เราใจชื้น และก้าวเดินได้อย่างมั่นใจ ฉะนั้นในปีหน้า สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ คือ “ฟื้นฟูสุขภาพควบคู่กับการสร้างภูมิคุ้มกัน” ถ้าโตต่ำเรื้อรังเช่นเดียวกับหนี้สูงเรื้อรัง คงว้าวุ่นหนัก

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด