ชง ครม.เคาะ พรบ.งบประมาณปี’67 คลังปรับแผนกู้เพิ่ม-ยังไม่รวมเงินดิจิทัล

งบประมาณ67

สำนักงบฯชง ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี’67 วงเงิน 3.48 ล้านล้าน คาดเข้าสภาวาระแรก 3 ม.ค. ขณะที่กระทรวงการคลังเสนอปรับแผนก่อหนี้ใหม่ ขยับเพิ่มวงเงินกู้ “ชดเชยขาดดุล-เสริมสภาพคล่องรัฐวิสาหกิจ-งบฯลงทุน” ชี้ยังไม่รวมเงินกู้ 5 แสนล้าน แจกเงินดิจิทัล

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ในวันที่ 26 ธ.ค.นี้ สำนักงบฯจะเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โดยมีวงเงินรายจ่ายทั้งสิ้นรวม 3.48 ล้านล้านบาท หลังจาก ครม.เห็นชอบแล้ว ก็จะส่งเอกสารงบประมาณให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา

“ตามปฏิทินงบประมาณจะเข้าสภาวาระแรก ในวันที่ 3 ม.ค. 2567 ซึ่งคาดว่าเมื่อผ่านกระบวนการรัฐสภาแล้ว จะมีผลบังคับใช้ได้ประมาณปลายเดือน เม.ย. หรือต้น พ.ค. เมื่อถึงตอนนั้นสำนักงบฯจะเสนอมาตรการให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดกระบวนการก่อหนี้ผูกพัน เพื่อให้เบิกจ่ายให้เร็วที่สุด เนื่องจากปีนี้งบประมาณล่าช้า” นายเฉลิมพลกล่าว

โดยโครงสร้างงบประมาณ แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 2,535,167.5 ล้านบาท งบฯรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 118,361.1 ล้านบาท งบฯรายจ่ายลงทุน 715,381.6 ล้านบาท งบฯรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 118,320.0 ล้านบาท โดยประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ 2,787,000 ล้านบาท ขณะที่งบฯกลาง 11 รายการ อยู่ที่ 603,265.0 ล้านบาท

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในส่วนของกระทรวงการคลัง เตรียมเสนอที่ประชุม ครม. อนุมัติปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 1 ตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ที่มีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบปรับปรุงแผนไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ หลังจากแผนเดิมมีการใส่วงเงินก่อหนี้ใหม่ไว้แค่ 194,434.53 ล้านบาท เนื่องจากช่วงที่จัดทำเป็นช่วงรัฐบาลรักษาการ จึงใส่วงเงินกู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณไว้เพียง 2 ใน 3 เท่านั้น

ขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลชุดปัจจุบันได้จัดทำกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงินรวม 3.48 ล้านล้านบาท โดยขาดดุลงบประมาณ 693,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิม 100,000 ล้านบาท ซึ่งวงเงินขาดดุลดังกล่าวจะต้องนำไปใส่ไว้ในแผนก่อหนี้ใหม่

อย่างไรก็ดี การปรับแผนรอบนี้ ยังไม่ได้รวมถึงการกู้เงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อแจกเงินดิจิทัลวอลเลต เนื่องจากยังต้องรอความชัดเจนเรื่องการออกกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ก่อน

“รอบนี้เป็นการปรับแผนให้การก่อหนี้ใหม่ ครอบคลุมการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ หลังจาก ครม.เห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 แล้ว ขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มในส่วนรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่แผนการลงทุนได้รับการอนุมัติจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้ว รวมถึงวงเงินเสริมสภาพคล่องของรัฐวิสาหกิจด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้มีการใส่วงเงินกู้สำหรับกองทุนประกันวินาศภัยที่ขอกู้เข้ามาก้อนแรก 3,000 ล้านบาทไว้ด้วย

“การปรับแผนบริหารหนี้รอบนี้ หนี้สาธารณะไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 70% ของ GDP” แหล่งข่าวกล่าว

ก่อนหน้านี้ ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 ได้อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 เฉพาะในส่วนที่ ครม.ได้มีมติอนุมัติแล้ว การบริหารหนี้ที่ครบกำหนด และการชำระหนี้ ประกอบด้วย (1) แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 194,434.53 ล้านบาท (2) แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,621,135.22 ล้านบาท และ (3) แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 390,538.63 ล้านบาท

โดยแผนก่อหนี้ใหม่ เป็นการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล 97,435.28 ล้านบาท แบ่งเป็นรัฐบาลกู้มาใช้โดยตรง วงเงิน 59,682.30 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย 1.เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณของปี 2566 ที่ขยายเวลากู้เหลื่อมปีไปในปีงบประมาณ 2567 จำนวน 40,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอีก 19,682.30 ล้านบาท

2.รัฐบาลกู้มาให้กู้ต่อ วงเงินรวม 37,752.98 ล้านบาท ซึ่งเป็นการให้กู้ต่อแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 2 โครงการ รวม 13,130 ล้านบาท และให้กู้ต่อแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อีก 7 โครงการ วงเงินรวม 24,622.98 ล้านบาท

ขณะเดียวกันเป็นแผนก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ 13 แห่ง อีก 96,999.25 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นเงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน วงเงิน 28,505.97 ล้านบาท และเงินกู้ที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันอีก 68,493.28 ล้านบาท