เบี้ยประกันรถ EV ปี 2567 ‘แพงขึ้นหรือถูกลง’ คปภ. มีคำตอบ

รถอีวี จีน

เบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า ปี 2567 ‘แพงขึ้นหรือถูกลง’ คปภ. มีคำตอบ หลังปี 2566 มีรถอีวีทำประกัน 5 หมื่นคัน บริษัทผู้รับประกันในตลาด 9 บริษัท

วันที่ 4 มกราคม 2566 นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่ช่วงปี 2564 ที่เริ่มมีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวีในประเทศไทย จนกระทั่งต้นปี 2565 เริ่มมีเสียงบ่นจากประชาชนเกี่ยวกับค่าเบี้ยประกันภัยรถอีวีที่ค่อนข้างแพง

ทางสำนักงาน คปภ. เห็นต้นทุนดังกล่าว เนื่องจากมีผู้ทำประกันภัยน้อย จึงมีการเฉลี่ยภัยน้อย และตอนนั้นบริษัทประกันวินาศภัยก็ไม่มีประสบการณ์ ประกอบกับหลาย ๆ เหตุการณ์ที่รถอีวีประสบมีต้นทุนมากกว่าปกติ

“ยกตัวอย่าง เวลาเกิดเหตุกระทบแบตเตอรี่ ไม่ว่าเหตุเบาหรือหนัก ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ทั้งหมด ทำให้อัตราค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) สูงมาก เพราะมูลค่าแบตเตอรี่คิดเป็น 50-60% ของราคารถ”

และบริษัทประกันวินาศภัยต้องระวัง ด้วยความที่บริษัทประกันวินาศภัยยังไม่รู้จักรถอีวีเลยว่าจริง ๆ แล้วความเสี่ยงอยู่ตรงไหน จึงต้องเรียนรู้ไปกับพัฒนาการของมัน

“เมื่อรถอีวีทำประกันไม่มาก การเฉลี่ยภัยจึงยังไม่ดีเหมือนรถยนต์สันดาป ที่มีรถเป็นล้านคัน ๆ ทำประกันภัย ซึ่งพอเฉลี่ยออกมาแล้วต้นทุนตรงนั้นจะนิ่งกว่า ในขณะที่ต้นทุนรถอีวีไม่นิ่ง ขยับ “สูง-ต่ำ” อยู่ตลอดเวลา” นายอาภากร กล่าว

เมื่อ คปภ. เห็นต้นทุนตรงนี้ จึงมุ่งเน้นไปแก้ตัวแบตเตอรี่ เพราะจากการสอบถามไปยังผู้ขายรถอีวี บอกกับ คปภ.ว่า แบตเตอรี่ไม่จำเป็นเปลี่ยนใหม่ เพราะสามารถซ่อมได้ จึงได้หารือกับบริษัทประกันวินาศภัยว่าหากสามารถซ่อมได้ ควรลดเบี้ยให้กับลูกค้า จึงเกิดแคมเปญขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

จากนั้นเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น คปภ.และภาคธุรกิจประกันวินาศภัย จึงได้ร่วมพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ในส่วนราคาเบี้ยเฉลี่ยของรถอีวี ถ้าติดตามมาโดยตลอดจะพบว่า ช่วงต้นปี 2565 เบี้ยจะสูงกว่ารถยนต์สันดาปจริง

ถ้าเป็นรถอีวีจีน สูงกว่าประมาณ 25-30% แต่พอปลายปี 2565 เบี้ยขยับลง 5-10% มาอยู่ที่ระดับ 20-25% เนื่องจากมีรถอีวีเข้ามามากขึ้น และบริษัทประกันวินาศภัยเข้าสู่ตลาดรถอีวีมากขึ้นด้วย จึงเกิดการแข่งขันมากขึ้น

และพอช่วงต้นปี 2566 คปภ. เห็นพัฒนาการเบี้ยเฉลี่ยรถอีวีขยับลงมาโดยตลอด ถ้ามองรถเทสลา ต่อ เทสลา หรือรถบีวายดี ต่อ บีวายดี ในรุ่นเดียวกัน ค่าเบี้ยก็ลดลง และจนถึงปลายปี 2566 เบี้ยรถอีวีสูงกว่ารถยนต์สันดาปโดยเฉลี่ยประมาณ 10-15% เท่านั้น

เหตุผลหลักยังเหมือนเดิมคือ 1.มีรถอีวีเพิ่มมากขึ้น 2.บริษัทประกันวินาศภัยเรียนรู้มากขึ้นและเข้าสู่ตลาดรถอีวีมากขึ้น

และคาดว่าในอนาคตเบี้ยจะลดลงมาอีก เมื่ออะไหล่ต่าง ๆ ที่ใช้ในรถอีวีผลิตภายในประเทศ

เพียงแต่วันนี้เบี้ยจะไม่ลดลง เพราะประเมินจากอัตราค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ที่เบี้ยประกันรถอีวีโดยเฉลี่ยสูงกว่ารถยนต์สันดาป อยู่ในระดับที่บริษัทประกันวินาศภัยรับได้ หรือลอสเรโชอยู่ที่ระดับกว่า 50% เพราะต้องรอรองรับความเสี่ยงสูง ๆ ต้นทุนสูง ๆ เช่น แบตเตอรี่

ฉะนั้นเบี้ย ณ วันนี้ ตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า กำหนดเป็นอัตราเบี้ย “ขั้นต่ำ-ขั้นสูง” ก็จริง แต่เบี้ยที่บริษัทประกันวินาศภัยใช้ก็จะอยู่ในระดับนี้ คือสูงกว่ารถยนต์สันดาปประมาณ 10-15% เหตุเนื่องจากราคาอะไหล่ยังสูง เพราะต้องสั่งตรงจากต่างประเทศ ช่างฝีมือยังมีน้อย และอู่ซ่อมยังต้องเป็นอู่ห้าง ยังไม่มีอู่ที่ได้รับอนุมัติจากห้างให้ไปซ่อมข้างนอกได้

ซึ่งประเด็นนี้ คปภ.มีความกังวลมาก เพราะรถอีวีเป็นรถไฟฟ้า มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ค่อนข้างมาก จึงกลัวว่าการซ่อมที่ไม่ได้มาตรฐานจะนำมาซึ่งความเสี่ยงของรถที่จะใช้จากการซ่อม ฉะนั้นเนื้อหาของกรมธรรม์ประกันรถอีวี จะเน้นว่าการซ่อมต้องมีมาตรฐานระดับที่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายยอมรับได้

สำหรับตัวเลขกรมธรรม์ประกันรถอีวีจนถึงสิ้นปี 2566 มีอยู่ประมาณ 5 หมื่นคัน มีบริษัทผู้รับประกันภัยรถอีวีในตลาดอยู่ทั้งหมด 9 บริษัท

นายอาภากร กล่าวต่อว่า เชื่อว่าเทรนด์รถอีวีมาแน่ ๆ เพราะรัฐบาลส่งเสริมอยู่ และอีกปัจจัยที่ทำให้เห็นเด่นชัดถึงพัฒนาการคือ ในปี 2567 เริ่มมีการก่อตั้งโรงงานเป็นฐานการผลิตรถอีวีในประเทศไทย ฉะนั้นอีโคซิสเต็มทุกอย่างจะพร้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ จะมีรถอีวีและอะไหล่ที่จะผลิตในประเทศไทย ราคาที่จะถูกลง จะมีศูนย์บริการในด้านต่าง ๆ ทั้งการชาร์จแบตเตอรี่ การซ่อม ช่างฝีมือ ที่จะมีมากขึ้น

และจะจูงใจให้คนเปลี่ยนมาใช้รถอีวี เพราะค่าใช้จ่ายในระหว่างปีลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ประชาชนวางแผนในการใช้รถได้ดีมากขึ้น