ตลาดตราสารหนี้ไทย ใหญ่แค่ไหน เมื่อเทียบ “สินเชื่อแบงก์-มาร์เก็ตแคปตลาดหุ้น”

ดร.สมจินต์ ศรไพศาล
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล

ตลาดตราสารหนี้ไทย ใหญ่แค่ไหน เมื่อเทียบฟอร์ม “สินเชื่อแบงก์-มาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นไทย” 3 เสาหลักแหล่งระดมทุนของประเทศไทย ที่มีมูลค่าคงค้างรวมกัน 51.8 ล้านล้าน

วันที่ 11 มกราคม 2567 ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ตลาดการเงินของประเทศไทยถือว่ามีสมดุลค่อนข้างดีสำหรับเสาหลักของแหล่งระดมทุน โดยปิดสิ้นปี 2566 พบว่าสินเชื่อธนาคารมีมูลค่าคงค้าง 18.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 105% ของจีดีพี ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่ามาร์เก็ตแคป 17 ล้านล้านบาท คิดเป็น 98% ของจีดีพี และตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าคงค้าง 16.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 95% ของจีดีพี โดยทั้ง 3 แหล่งระดมทุนมีมูลค่ารวมกัน 51.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 3 เท่าของจีดีพี

แม้ปีที่ผ่านมาจะอยู่ท่ามกลางบรรยากาศการลงทุนไม่ดี แต่ตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงขยายตัวได้ 5.4% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) โดยมูลค่าคงค้าง 16.5 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนประมาณ 51% หรือมูลค่า 8.4 ล้านล้านบาท เป็นพันธบัตรรัฐบาล

ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นมากว่า 70% จากปี 2562 (Pre-COVID) ที่มีมูลค่าคงค้างไม่ถึง 5 ล้านล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลมาจากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยสิ้นปีที่ผ่านมา พันธบัตรรัฐบาลมีมูลค่าคงค้างเพิ่มขึ้น 628,241 ล้านบาท YOY ส่วนใหญ่เป็นการออกพันธบัตรระยะยาว (อายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป)

ถัดมาสัดส่วนอีกประมาณ 29% หรือมูลค่า 4.75 ล้านล้านบาท เป็นตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้) ซึ่งช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้น 30-40% จากพรีโควิดมีมูลค่าคงค้าง 3.67 ล้านล้านบาท ทั้งนี้สิ้นปีที่ผ่านมา หุ้นกู้มีมูลค่าคงค้างเพิ่มขึ้น 8.8% YOY โดยส่วนใหญ่มาจากหุ้นกู้ระยะยาว (อายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป)

และปี 2567 ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศว่าภาครัฐจะออกตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) ซึ่งจะถือเป็นการออกครั้งแรก การออกของหน่วยงานภาครัฐ จากช่วงที่ผ่านมาเป็นฝั่งเอกชนที่ดำเนินการออกไปแล้ว

โดยมูลค่าคงค้าง ESG Bond ปิดสิ้นปีที่ผ่านมามีมูลค่าคงค้าง 658,795 ล้านบาท คิดเป็น 4% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย แยกเป็น 1.ตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability Bond) มูลค่า 442,484 ล้านบาท 2.ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) มูลค่า 137,111 ล้านบาท 3.ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) มูลค่า 53,000 ล้านบาท และ 4.ตราสารหนี้เพื่อสังคม (Social Bond) มูลค่า 26,200 ล้านบาท

ปีที่ผ่านมามีมูลค่าการออก ESG Bond รวมทั้งสิ้น 179,866 ล้านบาท ออกโดยบริษัทเอกชน 22 ราย และหน่วยงานภาครัฐอีก 6 ราย