ย้อนดูกำไรแบงก์ก่อนลุ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

การลงทุน กำไร

ย้อนดูผลประกอบการ 5 ปีย้อนหลังของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ 28 แห่ง ต้องผ่านมรสุม-เหตุการณ์อะไรบ้างก่อนสะท้อนตัวเลขกำไร-NIM-ROE-ROA ในปัจจุบัน และก่อนจะเป็นที่มาของกระแสฮอตแบงก์มีกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังรับอานิสงส์จากรายได้ดอกเบี้ย

วันที่ 16 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากประเด็นที่ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้นำเสนอข่าวว่าในปี 2566 ธนาคารพาณิชย์ของไทยจะมีกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งอานิสงส์หลักมาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin) หรือ NIM อย่างไรก็ดี “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลกำไรสุทธิในช่วง 5 ปีย้อนหลังของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งระบบ 28 แห่ง

โดยจากข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าในปี 2561 ระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 207,245 ล้านบาท และในปี 2562 อยู่ที่ 270,881 ล้านบาท ปี 2563 อยู่ที่ 143,950 ล้านบาท ปี 2564 อยู่ที่ 180,979 ล้านบาท ปี 2565 อยู่ที่ 236,366 ล้านบาท และล่าสุด 9 เดือนแรกของปี 2566 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรอยู่ที่ 198,749 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปในปี 2562 ก่อนจะเข้าสู่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย จะเห็นว่าผลประกอบการในปี 2562 ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบอยู่ที่ 270,881 ล้านบาท ถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีกำไรสุทธิ 207,245 ล้านบาท เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี รวมถึงมีการบันทึกกำไรพิเศษจากเงินลงทุนของบางธนาคาร ทำให้กำไรค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับ NIM ที่ไม่ได้ขยับและค่อนข้างทรงตัวอยู่ที่ 2.68% จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 2.69%

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ต้นปี 2563 หลังจากได้เกิดการระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งภายหลังจากมีการปิดประเทศ ทำให้ธุรกิจน้อยใหญ่ต้องหยุดชะงัก และบางรายอาจปิดกิจการลง ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีทั้งการพักหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) รวมถึงมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง

ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากรายได้ลดลง ตลอดจนรายได้ค่าธรรมเนียมหายไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา รวมถึงค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ ส่งผลภาพรวมในปี 2563 กำไรลดลงมาอยู่ที่ 143,950 ล้านบาท

ขณะที่ในปี 2564 และ 2565 กำไรของธนาคารทยอยเพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 อยู่ที่ 236,366 ล้านบาท ซึ่งเหตุผลหลักมาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ปรับลดลงจากก่อนหน้า ทำให้กำไรกลับมาดีขึ้น แต่ยังมีลูกหนี้ที่ธนาคารต้องให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง แต่จากสถานการณ์ที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายลดลง สะท้อนมายังความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี หากดูตัวเลข ROE หรืออัตราผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้น และอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) ถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 เฉลี่ย ROA ในปี 2564 อยู่ที่ 0.8% และ 1.0% ในปี 2565 เทียบกับปี 2561 และ 2562 อยู่ที่ 1.1% และ 1.4% ตามลำดับ ส่วน ROE ปี 2564 และ 2565 อยู่ที่ 7.4% และ 9.5% ต่ำกว่าปี 2561 ที่อยู่ 10.0% และปี 2562 อยู่ที่ 12.1% ก่อนจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 6.0% ในช่วงโควิด-19

และหากดูตัวเลข NIM ในปี 2564 อยู่ที่ 2.44% และในปี 2565 อยู่ที่ 2.62% เมื่อเทียบช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2561 อยู่ที่ 2.69% และในปี 2562 อยู่ที่ 2.68% และในช่วงโควิด-19 ในปี 2563 ลงมาอยู่ที่ 2.62%

ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากแวดวงการเงิน อธิบายให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า รายได้ของธนาคารพาณิชย์มาจาก 2 ส่วน คือ 1.รายได้ดอกเบี้ย ซึ่งมีทั้งขึ้นและลง โดยทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะเป็น Up Side ต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ซึ่งจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อ รวมถึงเงินลงทุนในตราสารหนี้ แต่อีกข้างจะเป็นรายจ่ายดอกเบี้ย คือ ดอกเบี้ยเงินรับฝาก และเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) รวมถึงตราสารหนี้ที่ธนาคารออกเอง

และ 2.รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ซึ่งก้อนใหญ่จะมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ (ค่าฟี) จะเห็นว่าส่วนนี้หายไปค่อนข้างเยอะ หลังจากธนาคารปรับลดและยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงิน (พร้อมเพย์) ส่วนค่าธรรมเนียมอื่น ๆ จะมาตามภาวะเศรษฐกิจ

“หากดูรายได้ของธนาคาร จะเห็นว่ารายได้ค่าธรรมเนียมหายไปจากค่าธรรมเนียมเงินโอน และไม่มีอะไรมาชดเชยได้หลังจากเกิดโควิด-19 แต่จะเห็นว่าปีที่ธนาคารเริ่มขึ้นดอกเบี้ยตามนโยบายการเงินก็จะมีอานิสงส์ต่อรายได้ดอกเบี้ย แต่หากพิจารณาจะเห็นว่าไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นเยอะ เช่นเดียวกับตัวเลข ROE และ ROA ที่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด”