ส่องเศรษฐกิจปีมังกร ผ่านแว่น 4 นักเศรษฐศาสตร์ไฟแรง

4 นักเศรษฐศาสตร์

หน่วยงานพยากรณ์เศรษฐกิจของรัฐ อย่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ฟันธงว่า อัตราการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2566 จะโตเพียง 1.8% ส่วนปีนี้ก็คาดว่าจะโตเพียง 2.8% เท่านั้น ขณะที่ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เตรียมปรับลดประมาณการจีดีพีลงเช่นเดียวกัน ส่วนบรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่าง ๆ ก็มีหลากมุมมอง

ล่าสุด ในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2567 สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ที่จัดขึ้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ 4 นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ไฟแรง ก็ได้ให้มุมมองกันไว้ในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทย ปีงูใหญ่ จะฝ่อ หรือฟ้อ”

เศรษฐกิจโลกโตต่ำ

“ดร.กิริฎา เภาพิจิตร” ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกต่อไป จะไม่โตเร็วแล้ว อย่างในปีนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ประมาณการว่า เศรษฐกิจโลกจะโต 3.1% เท่ากับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราที่เติบโตช้าและเป็นอัตราที่ต่ำสุดใน 30 ปี ขณะเดียวกันพอโตช้า จะพบว่า สหรัฐปีนี้ โตช้ากว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก ขณะที่จีนก็ฟื้นตัวช้ากว่าปีที่แล้ว ที่โตได้ 5% ปีนี้อาจจะโตเหลือแค่ 4.5%

“ดังนั้น เศรษฐกิจใหญ่ของโลก ก็จะโตช้าลง แม้ว่าจะมีอินเดียโตเร็วขึ้น และตะวันออกกลางโตเร็วขึ้น หรือทางอาเซียนมีประมาณการว่าโตเร็วขึ้น แต่ประเทศใหญ่ ๆ ที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย อย่างสหรัฐ ญี่ปุ่น จีน ปีนี้โตช้ากว่าปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นก็เป็นภาพของเศรษฐกิจโลกที่มองว่า Growth จะไม่ได้เยอะ ขณะเดียวกันก็จะทำให้เงินเฟ้อลดลงด้วย” ดร.กิริฎากล่าว

“ดร.กิริฎา” กล่าวอีกว่า ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเลต ถ้าโครงการเกิดขึ้นมา ก็มีผลทำให้ต้องใช้เงินมากในระยะสั้น มีโอกาสทําให้เงินเฟ้อขึ้น ราคาสินค้าปรับขึ้น ก็จะเป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ อาจจะทําให้ดอกเบี้ยนโยบาย จะไม่ลดลงเร็วได้

จับตาเลือกตั้งสหรัฐ

ขณะที่ “ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ในด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ต้องบอกว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงไทยด้วย อย่างสงครามตะวันออกกลาง สงครามอิสราเอลกับฮามาส ก็มีผลกระทบทําให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูง มีเรื่องปัญหาเรื่อง Supply Chain เงินเฟ้ออาจจะอยู่ในระดับที่สูง รวมถึงการลดดอกเบี้ยอาจจะล่าช้ากว่าที่คาด

“นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน หากนายโดนัลด์ ทรัมป์กลับมา อาจจะมีผลที่ทําให้ความขัดแย้งมีมากขึ้น การผลิต การส่งออกของไทย ก็อาจจะมีปัญหา ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวัง” ดร.พิพัฒน์กล่าว

เศรษฐกิจไทยวิกฤตเป็นจุด ๆ

“ดร.อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ คาดว่าจีดีพีจะโตประมาณ 3.1% กรณีไม่มีดิจิทัลวอลเลต แต่หากรวมจะโตเพิ่มได้ประมาณ 0.5% ส่วนจะวิกฤตหรือไม่นั้น มองว่าวิกฤตในบางส่วน เช่น ภาคเกษตรที่มีปัญหาภัยแล้ง กําลังซื้ออ่อนแอ หรือภาคการผลิตที่ยังไม่ค่อยดี

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่กระทบเศรษฐกิจไทย ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยต่างประเทศ ทั้งความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ที่อาจจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่เรื่องความรุนแรงในตะวันออกกลาง ที่กระทบกับราคาน้ำมัน ทำให้จากที่คิดว่าเงินเฟ้อกําลังจะหายไป อาจจะพลิกกลับขึ้นมาได้

นอกจากนี้ ยังมีทิศทางดอกเบี้ย ที่อาจจะทําให้ไทยพร้อมในการลดดอกเบี้ย และเชื่อว่าแบงก์ชาติน่าจะปรับลดดอกเบี้ยได้ ถ้าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการลดดอกเบี้ยในเดือน พ.ค.นี้ ก็มีโอกาสที่ไทยจะลดดอกเบี้ยตามได้ ถ้าไม่ได้มีเรื่องของแรงกระตุ้นมหาศาลที่จะนําไปสู่เงินเฟ้อ เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยพร้อมสําหรับการผ่อนคลายได้เพิ่มเติม

“ต้องยอมรับว่า ตอนนี้ยังติดปัญหา 2 เรื่อง ก็คือ 1.ดอกเบี้ยสหรัฐ ที่ยังไม่อยากจะลดลง 2.การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ยังไม่มา ต้องรอจนกระทั่งปลายเดือน เม.ย. หรือต้นเดือน พ.ค. ถึงตอนนั้นเศรษฐกิจไทยก็น่าจะกลับมาในสภาวะที่ดีขึ้น ความกังวลก็จะอยู่ในช่วงไตรมาส 1 หรือกลางไตรมาส 2 ซึ่งก็หวังว่าจะเกิดการลงทุน การส่งออกพลิกเป็นบวกได้ การท่องเที่ยวกลับมา ตรงนี้น่าจะพยุงเศรษฐกิจได้อยู่” ดร.อมรเทพกล่าว

ดิจิทัลวอลเลตส่งผลต่อดอกเบี้ย

ขณะที่ “ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือ ตอนนี้ดอกเบี้ยของสหรัฐอยู่ที่ 5.5% อาจจะสูงเกินไป รวมถึงยุโรป จีน และญี่ปุ่น ก็อาจจะมีการลดดอกเบี้ยด้วย ซึ่งต้องดูว่าจะลดกี่ครั้ง ขณะที่ดอกเบี้ยของไทยก็ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ยังไงก็ไม่ขึ้นต่อ และคิดว่าทิศทางน่าจะลดลง แต่ต้องดูว่าจะลดเมื่อไหร่

โดยการพิจารณาดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงให้ความสําคัญ 3 เรื่องใหญ่ ๆ คือ 1.แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ 2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ 3.เสถียรภาพของระบบการเงิน

“ผมเชื่อว่า ขึ้นอยู่กับดิจิทัลวอลเลตว่า มาไหม ถ้ามา จะทําให้ภาวะเศรษฐกิจ กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น โอกาสลดดอกเบี้ย ก็จะน้อยหน่อย แต่ถ้าดิจิทัลวอลเลตมาช้า เศรษฐกิจแผ่วลง อัตราเงินเฟ้ออาจจะต่ำกว่าที่ธนาคารกรุงไทยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ก็มีโอกาสที่จะเห็นการลดดอกเบี้ย เพราะความเสี่ยงของเงินเฟ้อและการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ต่ำ คาดว่าจะมีมากขึ้น” ดร.พชรพจน์กล่าว