ปมขัดแย้ง “สหรัฐ VS จีน” สะเทือนโลก-เขย่าเศรษฐกิจไทย

จากซ้ายไปขวา : ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร, ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, เกรียงไกร เธียรนุกุล
จากซ้ายไปขวา : ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร, ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, เกรียงไกร เธียรนุกุล

ปัจจุบันปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ หรือ Geopolitics กลายเป็นความเสี่ยงอันดับต้น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และเป็นความเสี่ยงที่น่ากังวล เพราะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน คาดการณ์ได้ยาก ซึ่งหลาย ๆ เวที ต่างหยิบยกเรื่องนี้มาวิเคราะห์กัน เช่นเดียวกับงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2567 สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ที่จัดขึ้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ได้มีการพูดถึงความเสี่ยงเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

จับตาเลือกตั้งสหรัฐ

“ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “จับชีพจรประเทศไทย” ว่า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก สำคัญมากในยุคปัจจุบัน สงครามการค้าของแต่ละภูมิภาคยังรุนแรง สงครามรัสเซีย-ยูเครน ตะวันออกกลาง ปัญหาทะเลแดง รวมทั้งการเลือกตั้งไต้หวัน ที่เป็นประเด็นหนึ่งเขย่าจีน และที่ต้องจับตา ก็คือ การเมืองในสหรัฐที่เตรียมการเลือกตั้ง ซึ่งมองกันว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ อาจกลับมาอีก

“เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการส่งออก การตั้งกำแพงภาษี การกีดกันทางการค้าจากจีนและสหรัฐ ที่ผ่านมาสหรัฐได้ออกกฎหมายห้าม สหรัฐถอนตัวจากนาโต้ ซึ่งต้องระวัง ถ้าทรัมป์มา อาจกลับไปมีปัญหากับจีนมากขึ้น จากนี้ไป อาจคุยไม่ได้ทั้งสองฝั่ง บีบบังคับให้ไทยต้องเลือกคุยกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”

ดร.สมคิด กล่าวว่า อนาคตเศรษฐกิจทำนายกันยากมากขึ้น เพราะความผันผวนของปัจจัยต่าง ๆ ดังนั้น ภาคธุรกิจต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพราะเริ่มมีสัญญาณการเติบโตที่ต่ำลงทุกขณะ ซึ่งหากพิจารณารอบ 5 ปี ในปี 2567 นี้ จะเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกอ่อนแอสุด

โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) โลกปีนี้จะขยายตัว 3.1% แม้จะมองว่าสหรัฐเติบโตได้ แต่กลับชะลอลง และคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจลดดอกเบี้ยลง เพราะว่าเงินเฟ้อที่ทุกคนเป็นห่วงก็เริ่มหยุดนิ่งแล้ว

ขณะที่จีน แม้มีปัญหาหนัก ตลาดหุ้นจีนหายไป 30% คนจบใหม่ไม่มีงานทำ แต่จีนมีพลังงาน มีนโยบายเข้มแข็ง ซึ่งนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ต้องทุ่มเท เพื่อดันจีดีพีโตให้ได้ 4.5% ด้านญี่ปุ่น ตลาดหุ้นเริ่มกลับมา ส่วนอินเดียก็ยังน่าเกรงขาม ทั้งหมดนี้ มองว่าโลกน่าจะดี ซึ่งไทยก็น่าจะดีตามไปด้วย

ห่วงเศรษฐกิจไทยอ่อนแอ

ดร.สมคิด กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยเริ่มอ่อนแอเพราะไทยยังเดินไปข้างหน้าช้ามาก โดยเฉพาะช่วงหลังเกิดรัฐประหาร เจอวิกฤตโควิด-19 ขณะที่ในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการประเมินจีดีพีจะโตแค่ 1.8% สะท้อนว่าประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ยุคเติบโตต่ำเรื่อย ๆ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เติบโตอย่างก้าวกระโดด ได้พัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตลาดหุ้นมีการขยับขึ้นตลอด ประเทศอินโดนีเซีย กลายเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจ ขณะที่มาเลเซีย มุ่งนโยบายเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว นับว่าอาเซียนทุกประเทศปรับตัวเร็วมาก

“ปัญหาเศรษฐกิจไทย มาจากปัญหาการเมือง การแบ่งสี แบ่งค่าย มุ่งยึดฐานเสียงในทุกรูปแบบ รัฐบาลต้องผลักดันนโยบายระยะยาว แม้จะมีมาตรการระยะสั้นบ้าง เมื่อไทยต้องพัฒนาโครงสร้างระยะยาว จึงเป็นห่วง หากผลักดันเขตอีอีซี ที่ไม่ได้รับการดูแลสานต่อ จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่สนใจ หากเป็นแบบนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ อาจมีปัญหาได้”

อดีตรองนายกฯ กล่าวด้วยว่า ไทยกำลังเดินไปสู่จุดที่มีความเสี่ยง เพราะหากจีดีพีปี 2566 ขยายตัว 1.8% คงต้องเตรียมรับมือ ต้องมุ่งเน้นโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยหากจะให้ตัวเลขจีดีพีโตได้มากขึ้น ต้องเร่งเปลี่ยนเครื่องยนต์ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะเครื่องยนต์เดิมที่ใช้เก่าแล้ว ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

เตือนรักษาสมดุล “สหรัฐ-จีน”

ดร.สมคิด กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันการจะพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ ยังต้องมองภาพรวมเศรษฐกิจโลกไปพร้อม ๆ กัน ในสถานการณ์ที่ทั่วโลกมีปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการรักษาสมดุลความสัมพันธ์ ระหว่างจีนกับสหรัฐ ให้ดี

ขณะที่ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในวงเสวนา หัวข้อ “Geopolitics :โลกรวนชวนตีกัน โอกาสของไทย ?” ว่า ตอนนี้พูดกันมากว่า การจะดูความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ว่าจะไปทางไหน อาจจะต้องรอการเลือกตั้งสหรัฐ ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ จะกลับมาอีกหรือไม่ เพราะอาจจะทำให้นโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐเปลี่ยนไป โดยนโยบายของทรัมป์จะค่อนข้างมีความยืดหยุ่น อย่างไรก็ดี ก่อนจะถึงการเลือกตั้ง ก็มีความเสี่ยงว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นก่อนหรือไม่

“มีโอกาสเป็นไปได้สูง ที่ว่าทรัมป์จะมา แต่คำถามที่ไม่มีใครชัวร์คือ ทรัมป์จะโดนคดีก่อนเลือกตั้งไหม ซึ่งถ้าโดนคดี วิกฤตการเมืองจะตามมา ดังนั้น ในสหรัฐจะมี 2 เรื่อง คือวิกฤตการเมืองที่รออยู่ กับเรื่องเศรษฐกิจที่บูมมาก จะเป็นฟองสบู่แค่ไหน มีความเปราะบางแค่ไหน เพราะนักเศรษฐศาสตร์พูดว่าตัวเลขดี แต่ผลสำรวจความรู้สึกของประชาชนจะรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี”

ส่วนประเด็นจีนกับไต้หวัน ดร.อาร์ม กล่าวว่า ระยะสั้นในปีนี้ ตนไม่ได้กังวล ซึ่งประเด็นไต้หวันมี 2 เรื่องหลัก 1.เรื่องภายในที่ตอนนี้ไม่เป็นคุณกับจีน จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา กับ 2.การเมืองสหรัฐ ที่จะมีผลกับนโยบายเรื่องไต้หวัน

สินค้าจีนศึกหนักประเทศไทย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ก็คือ สิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องภายนอกทั้งสิ้น ซึ่งไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่รู้ว่าเรื่องนี้เป็นความเสี่ยงของโลก และเป็นความเสี่ยงของประเทศไทย ไม่ว่าจะเรื่องการเลือกตั้งไต้หวันที่ต้องจับตา

“ถามว่า Geopolitics ส่งผลอะไรกับภาคอุตสาหกรรม ผมคิดว่า Geopolitics ครั้งนี้ มีผลกระทบในทุกมิติ ไม่ว่าจะเรื่องการเมือง การค้า การลงทุน เทคโนโลยี การเงิน รวนไปหมด ต้องเลือกข้าง ต้องเลือกเทคโนโลยี ว่าจะอยู่กับใคร”

อย่างปัญหาระหว่างรัสเซียกับยูเครน ก็กระทบซัพพลายเชนราคาพลังงานพุ่งขึ้น วัตถุดิบต่าง ๆ ที่ไทยต้องนำเข้า เช่น ปุ๋ย ก็ราคาขึ้นแพงมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีโอกาสในเรื่องการส่งออกอาหาร เกษตร จากการที่ยูเครนได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดี เรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์นั้น จีนกับสหรัฐคือคู่ชกตัวจริง

“ต้องยอมรับว่า Geopolitics จะอยู่กับเรา และจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดเกมของโลกต่อไป ฉะนั้นการเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน และจะอยู่กับใคร เพื่อให้เราได้ประโยชน์สูงสุด ก็ต้องเรียนรู้ต่อไป”

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า สำหรับตนเอง ในเชิงเศรษฐศาสตร์ เรื่อง Geopolitics มีคู่ขัดแย้งหลักแค่ 2 ประเทศเท่านั้น คือ สหรัฐกับจีน เพราะ 2 ประเทศนี้มีจีดีพีรวมกัน 42% ของจีดีพีโลก และหากรวมยุโรปที่จะต้องเข้าข้างใดข้างหนึ่งเข้าไปด้วย จะเป็นเกือบ 60% ดังนั้นหาก 3 กลุ่มนี้ไม่ลงรอยกัน จะมีปัญหาแน่นอน

นอกจากนี้ จีนยังมีประเด็นเรื่องการผลิตสินค้าที่เกินความต้องการภายในประเทศ เศรษฐกิจภายในประเทศก็ฟื้นช้า จึงต้องส่งออกสินค้าจำนวนมาก ซึ่งไทยเองก็ขาดดุลการค้าจีนมหาศาล ปีที่ผ่านมาขาดดุลไป 1 ล้านล้านบาท แม้จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา ก็ทดแทนไม่ได้ ถือเป็นศึกหนักของประเทศไทย

ขณะที่ประเด็นไต้หวันกับจีนนั้น ต้องบอกว่าไต้หวันสำคัญอย่างมากสำหรับจีน ในเชิงการเมือง ในเชิงความมั่นคง และทางเศรษฐกิจด้วย รวมถึงการเป็นประชาธิปไตยของไต้หวัน ซึ่งตนมองว่าสำหรับนายสี จิ้นผิง ยังไงก็ต้องการนำไต้หวันกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของจีนให้ได้

ดร.ศุภวุฒิ กล่าวอีกว่า สำหรับเศรษฐกิจไทย สิ่งที่ต้องระมัดระวังและให้ความสำคัญ คือ กําลังซื้อจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเรื่องของการส่งออก หรือนักท่องเที่ยว โดยในปีที่ผ่านมาเห็นว่ายังไม่ได้มีการขับเคลื่อนดีมากนัก และในครึ่งแรกของปีนี้ ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะมีกำลังซื้อจากต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็จะเป็นความเสี่ยงหลักในไทย ซึ่งรัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะว่ามีแรงกดดันจากจีนในเรื่องการส่งออก

จี้ ธปท.ลดดอกเบี้ยช่วยธุรกิจ

“ส่งออกขับเคลื่อนได้ยาก ส่วนใหญ่เพราะโครงสร้างพื้นฐานและไทยไม่มีความสามารถในการแข่งขัน หรือเป็นเพราะดอกเบี้ยสูงเกินไปหรือเปล่า เหมือนกับที่มีคนตั้งคำถาม เพราะว่าหากดอกเบี้ยสูง ก็จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น รวมถึงอาจจะกระทบการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งสำหรับผู้ประกอบการ เรื่องของต้นทุน อย่างเช่น ดอกเบี้ย ค่าเงินบาทที่ใกล้จะแข็งค่าขึ้น ส่งผลสำหรับกำลังใจในระยะสั้นและความมั่นใจที่จะขับเคลื่อนต่อไป”

ดร.ศุภวุฒิ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันเงินเฟ้ออยู่ไม่เกิน 1% อาจติดลบด้วยซ้ำ แต่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.5% ฉะนั้นดอกเบี้ยนโยบายสูงค่อนข้างมากแล้ว ก็กระทบกับเศรษฐกิจ ซึ่งสงสัยว่าจะแรงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คิด

“เงินเฟ้อติดลบตั้งนานแล้ว ไปขึ้นดอกเบี้ยทําไม ผมถามว่าต้องรอให้เรือไททานิกชนภูเขาน้ำแข็งก่อนหรือ แม้ว่าแบงก์ชาติจะยืนยันว่ามีความอิสระในการดำเนินโยบายการเงิน แต่ปกติแล้วคุณอยู่ในเรือลําเดียวกัน แล้วคุณจะบอกว่าขอมีอิสระ แต่อยู่ในเรือลำเดียวกัน มันก็ฟังแปลก”