การเลื่อนช่วงเวลา “ปรับลดดอกเบี้ยของเฟด” ส่งผลลบต่อราคาทองคำ

ปรับลดดอกเบี้ย
คอลัมน์ : สถานีลงทุน
ผู้เขียน : ธนรัชต์ พสวงศ์ ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส

เดือนมกราคมและต้นเดือนกุมภาพันธ์เริ่มมีการประชุมรอบแรกของปีของธนาคารกลางชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางอังกฤษ การประชุมรอบแรกของปีนี้ทุกธนาคารยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่เดิม แต่ที่สำคัญคือแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาลงในปีนี้ ทำให้ตลาดจับตามองว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยเมื่อไร

โดยเฉพาะตลาดให้ความสนใจกับอัตราดอกเบี้ยของเฟด ถึงแม้ว่าการประชุมเฟดรอบนี้ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด แถลงว่าเฟดจะยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม แต่สังเกตได้ว่าราคาทองคำลดลงและฟื้นตัวขึ้นได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่เฟดให้ความเห็นที่เป็นสายเหยี่ยว ระบุว่าเฟดอาจตรึงอัตราดอกเบี้ยสูงอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะลดลงสู่เป้าหมาย 2%

สอดคล้องกับหลังการประชุมที่มีการระบุว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะลดลงสู่เป้าหมาย 2% อย่างยั่งยืน ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าจะลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคม จากเดิมเดือนมีนาคม

ช่วงที่ผ่านมาราคาทองตลาดโลกลดลงแรง หลังจากการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐเดือนมกราคมออกมาแข็งแกร่งมาก เพิ่มขึ้นถึง 353,000 ตำแหน่ง และล่าสุดในคืนวันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พาวเวลล์ให้สัมภาษณ์ทางช่อง CBS News รายการ “60 Minutes” ให้ความเห็นที่เป็นสายเหยี่ยวมากขึ้น ระบุว่าเฟดจะดำเนินการอย่างรอบคอบในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

เฟดมีแนวโน้มจะดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้อย่างมาก การเลื่อนช่วงเวลาปรับลดดอกเบี้ยของเฟดส่งผลลบต่อราคาทองคำในช่วงระยะสั้น แต่ประเมินว่าในระยะสั้นการปรับลงของราคาทองเริ่มมีกรอบจำกัด เพราะตลาดทำใจได้ระดับหนึ่งแล้ว

หลังจากนี้เดือนกุมภาพันธ์ไม่มีการประชุมธนาคารกลางชั้นนำ แต่ยังคงต้องติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะการจ้างงานและเงินเฟ้อของสหรัฐที่จะมีผลกับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของตลาด ถึงช่วงเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และจำนวนครั้งที่จะปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้

ราคาทองคำทางด้านเทคนิคเกิดสัญญาณรูปแบบ Double Top หลังจากขึ้นไปทดสอบแนวต้าน 2,065 ดอลลาร์ 2 รอบ และล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ แต่ไม่สามารถผ่านขึ้นไปได้ ทำให้เกิดแรงเทขายอย่างหนัก แต่มีเส้นแนวรับสำคัญที่เป็น Neckline อยู่ที่ 2,005 ดอลลาร์

ถ้าราคาทองลดลงมาที่ประมาณ 2,015-2,020 ดอลลาร์ น่าจะเริ่มมีแรงซื้อกลับเข้ามา แต่ถ้ายังมีแรงเทขายต่อเนื่อง แนวรับสำคัญอยู่ที่ 2,005 ดอลลาร์ คาดราคาทองจะเด้งขึ้นแรง

ส่วนแนวต้าน 2,040-2,050 ดอลลาร์ และแนวต้านแข็งแกร่ง 2,065 ดอลลาร์คาดผ่านขึ้นไปได้ยาก

สำหรับเงินบาทปีนี้อ่อนค่าลงราว 1.10 บาท ล่าสุดเงินบาท (7 กุมภาพันธ์) อยู่ที่ 35.50 บาท เนื่องจากเงินดอลลาร์ปีนี้กลับมาแข็งค่ามากที่สุดในรอบกว่า 1 เดือน ช่วยหนุนราคาทองในประเทศราว 1,000 บาท และทำให้ราคาทองยังยืนเหนือระดับ 34,000 บาทได้ ถึงแม้ว่าราคาทองตลาดโลกลดลง

ทั้งนี้ ราคาทองแท่งในประเทศมีแนวรับ 34,050-34,100 บาท แนวต้าน 34,300-34,400 บาท แนะนำทยอยซื้อสะสมได้ที่ 34,000 บาท หรือต่ำกว่า 34,000 บาท