ดอลลาร์สหรัฐทรงตัว ตลาดรอปัจจัยใหม่

เงินดอลลาร์สหรัฐ
FILE PHOTO: REUTERS/Dado Ruvic/

ดอลลาร์สหรัฐทรงตัว ตลาดรอปัจจัยใหม่ หลังสหรัฐปรับลดระดับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือน ธ.ค.  บ่งชี้ถึงเงินเฟ้อที่ชะลอลง และจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน พ.ค.

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ว่าค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/2) ที่ระดับ 35.90/91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/2) ที่ระดับ 35.89/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเทียบเงินสกุลหลัก หลังดัชนีดอลลาร์ปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 104 ภายหลังสหรัฐปรับลดระดับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือน ธ.ค. ซึ่งบ่งชี้ถึงเงินเฟ้อที่ชะลอลง และจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ นักลงทุนจับตาดัชนี CPI ประจำเดือน ม.ค.ของสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในวันอังคารที่ 13 ก.พ. รวมทั้งถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐต่อไป สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐนั้น กระทรวงแรงงานสหรัฐประกาศปรับตัวเลขดัชนี CPI ประจำเดือน ธ.ค.ในวันศุกร์ (9 ก.พ.) จากเดิมที่มีการรายงานก่อนหน้านี้ โดยดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าตัวเลขที่มีการรายงานก่อนหน้านี้ที่ระดับ 0.3%

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือน ธ.ค. สอดคล้องกับตัวเลขที่มีการรายงานก่อนหน้านี้ ทำให้นักลงทุนเพิ่มการให้น้ำหนักที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือน พ.ค. มาอยู่ที่ 54.8% หลังจากที่ให้น้ำหนัก 50.3% ก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกัน นักลงทุนให้น้ำหนัก 35.1% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือน พ.ค. หลังจากที่ให้น้ำหนัก 40.1% ก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ตลาดยังจับตาดูปัญหาภูมิศาสตร์ในตะวันออกกลางหลังอิสราเอลเดินหน้าปฏิบัติการทางทหารในเมืองราฟาห์

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทยังคงปรับตัวในแนวอ่อนค่า แม้ดอลลาร์จะลดแรงบวกลงเทียบเงินสกุลหลัก แต่การปรับตัวลงของราคาทองคำมาอยู่ที่ระดับ 2,024 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากการที่ตลาดถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวขึ้น

ขณะที่นักลงทุนรอการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐและถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ว่า เฟดจะดำเนินนโยบายการเงินในทิศทางใด ทั้งนี้ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 35.85-35.95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.86/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/2) ที่ระดับ 1.0797/01 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/2) ที่ระดับ 1.0764/68 ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี (Destatis) เปิดเผยข้อมูลในวันที่ 9 ก.พ.ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ม.ค.ของเยอรมนีที่ถูกปรับให้สอดคล้องกับสหภาพยุโรป (HICP) ลดลงสู่ระดับ 3.1% เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับข้อมูลประมาณการเบื้องต้น

ทั้งนี้ในระหว่างวันยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0770-1.0805 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0773/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/2) ที่ระดับ 149.15/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/2) ที่ระดับ 146.43/47 จากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยในวันที่ 9 ก.พ. ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยืนยันใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไป แม้เป็นช่วงเวลาที่ BOJ ยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบหลังจากบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างมีเสถียรภาพ

ในขณะเดียวกันกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เรียกร้องให้ BOJ ยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy) ซึ่งรวมถึงการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน และแนะนำให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากแนวโน้มเงินเฟ้อของญี่ปุ่นเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

โดยค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบแคบเนื่องจากระหว่างวันไม่มีตัวเลขเศรษฐกิจหรือปัจจัยใหม่ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 148.97-149.29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 149.18/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ม.ค. ญี่ปุ่น (13/2), อัตราว่างงานเดือน ธ.ค. อังกฤษ (13/2), ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือน ก.พ. จากสถาบัน ZEW ยุโรป (13/2), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ม.ค., อัตราเงินเฟ้อเดือน ม.ค. อังกฤษ (14/2), การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค.ยุโรป (14/02), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (15/2),

ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือน ก.พ. จากเฟดนิวยอร์ก (15/2), ดัชนีการผลิตเดือน ก.พ. จากเฟดฟิลาเดลเฟียของสหรัฐ (15/2), ยอดค้าปลีกเดือน ม.ค. อังกฤษ (16/2), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ม.ค. สหรัฐ (16/2) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน ก.พ. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐ (16/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.0/-7.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.1/-1.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ