เปิดข้อมูล “สภาทองคำโลก” ย้อนหลัง 10 ปี คนไทยนิยมลงทุนพุ่ง

เซาไก ฟาน
สัมภาษณ์

ทองคำเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่ปลอดภัย ทำให้ในเวลาที่สินทรัพย์เสี่ยงอื่น ๆ ให้ผลตอบแทนไม่ดี นักลงทุนจึงมักจะหันมาลงทุนในทองคำ ขณะเดียวกัน ในยุคปัจจุบันธนาคารกลางหลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการเก็บสะสมทองคำไว้เป็นทุนสำรองกันมากขึ้น

โดยข้อมูลจากสภาทองคำโลก (World Gold Council) ชี้ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระหว่างสิ้นปี 2556 ถึงสิ้นปี 2566 ราคาทองคำได้เพิ่มขึ้นจากราคา 1,205 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เป็น 2,078 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือเพิ่มขึ้นถึง 73%

“เซาไก ฟาน” หัวหน้าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางทั่วโลกของสภาทองคำโลกให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2566 ที่ผ่านมา การซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากปี 2565 ทำให้จำนวนความต้องการอยู่ที่ระดับ 1,037 ตัน ในปี 2566 ที่ผ่านมา ผลักดันให้ยอดรวมตลอดทั้งปีสูงสุดเป็นอันดับสองจากที่มีการบันทึกมาทั้งหมด และลดลงเพียง 45 ตันเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

โดยประเทศไทยเป็นตลาดที่มีการเติบโตของความต้องการทองคำผู้บริโภค (Consumer Gold Demand) สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เพิ่มขึ้นถึง 9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จาก 38.4 ตัน ในปี 2565 เป็น 42.1 ตัน ในปี 2566 ซึ่งการเติบโตดังกล่าวเป็นผลมาจากความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีมากกว่าการปรับตัวลดลงของความต้องการทองคำแบบเครื่องประดับ

ด้านสถานการณ์ของทองคำแท่งและเหรียญทองคำสำหรับการลงทุน พบว่าความต้องการทั่วโลกลดลง 3% โดยความแข็งแรงของตลาดบางภูมิภาคได้ช่วยชดเชยความต้องการที่ลดลงในบางตลาด แต่ในทางกลับกันพบว่าประเทศไทยมีการเติบโตปี 2566 แข็งแกร่งที่สุดในอาเซียน และเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีการเติบโตเป็นบวกในปีที่ผ่านมา

ส่วนความต้องการทองคำเครื่องประดับในประเทศไทย มีการฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา จาก 2.5 ตันในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 เป็น 3 ตันในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 แต่ยังไม่สามารถทำให้ปริมาณทั้งปีเติบโตเป็นบวกได้ โดยความต้องการตลอดทั้งปีลดลง 2% อยู่ที่ 9 ตัน แม้ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือน ต.ค. และ พ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากราคาทองคำที่ลดลงก็ตาม

“ในปี 2566 เราพบว่าความต้องการทองคำเครื่องประดับของไทยลดลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (-2%) ในขณะที่ความต้องการทองคำสำหรับการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 13% เมื่อเทียบกับปี 2565 อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการทองคำสำหรับการลงทุนในช่วงก่อนโควิด-19 ยังคงถือว่าปริมาณไม่สูง โดยค่าเฉลี่ยจากปี 2558 ถึง 2562 อยู่ที่ 63 ตันต่อปี”

“ฟาน” อธิบายว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 ราคาสินค้าเกษตรของไทยที่สูงขึ้น ได้กระตุ้นให้ความต้องการจากพื้นที่ชนบทเติบโต ซึ่งก่อนหน้านี้ตลอดทั้งปีมีปริมาณน้อยกว่าในพื้นที่เมือง อย่างไรก็ตาม ปริมาณทองคำรีไซเคิลในตลาดเครื่องประดับของประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นในปี 2566 เนื่องจากราคาทองคำที่สูงขึ้นได้ดึงให้มีการนำทองคำที่ถือครองอยู่ออกมา

“จากปริมาณความต้องการทองคำผู้บริโภคในปี 2566 พบว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามในภูมิภาคอาเซียน โดยมีความต้องการทองคำ 42.1 ตัน รองจากเวียดนามที่มีความต้องการ 55.5 ตัน และอินโดนีเซีย 45.3 ตัน”

นอกจากนี้ หากมองย้อนไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าปริมาณความต้องการทองคำภาคผู้บริโภคของประเทศไทยนั้น เปลี่ยนไปสู่รูปแบบการลงทุนในรูปแบบทองคำแท่งและเหรียญทองคำเป็นอย่างมาก โดยความต้องการทองคำเครื่องประดับมีส่วนแบ่งที่น้อยกว่ามาก และแม้ว่าปริมาณความต้องการทองคำของไทยจะลดลงในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา แต่จะเห็นว่ามีการฟื้นตัวที่ดี จากการลงทุนซึ่งติดลบ 87 ตัน ในปี 2563 เนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 และราคาทองคำที่พุ่งสูงในขณะนั้น

“ค่าเงินบาทที่อ่อนลงอย่างต่อเนื่องในปี 2566 ช่วยสนับสนุนความต้องการทองคำในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง แต่สาเหตุของความต้องการที่ลดลงจากในอดีต อาจเนื่องมาจากความนิยมในแพลตฟอร์มการลงทุนทองคำออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการซื้อขายทองคำในระยะสั้นมากขึ้น และทำให้การลงทุนแบบ ‘ซื้อแล้วถือ’ ระยะยาวลดลง”