ธนาคารคุ้มครองเงินฝาก

คุ้มครองเงินฝาก
คอลัมน์ : คุยฟุ้งเรื่องการเงิน
ผู้เขียน : Actuarial Business Solutions [ABS]

ธนาคารเป็นสถาบันการเงินที่ทุกคนรู้จัก โดยหน้าที่หลักของธนาคาร คือ รับฝากเงิน ที่ทุกคนมักจะนำเงินไปฝากไว้ที่ธนาคารเป็นจำนวนมาก ภาครัฐบาลจึงจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากขึ้นในปี 2551 ตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ฝากเงินในสถาบันการเงิน

โดยเฉพาะผู้ฝากเงินรายย่อยที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่อาจจะไม่สามารถเข้าถึงข่าวสารทางการเงินได้อย่างเพียงพอ

ในกรณีที่สถาบันการเงินซึ่งอยู่ภายใต้ความคุ้มครองถูกปิดกิจการ ผู้ฝากเงินจะได้รับเงินฝากคืนจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากอย่างรวดเร็วภายใต้วงเงิน และภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนเงินฝากที่มีจำนวนเกินวงเงินจ่ายคืนดังกล่าว จะได้รับคืนเพิ่มเติมจากการชำระบัญชีสถาบันทางการเงินที่ปิดกิจกา

หน้าที่หลักของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก คือ คุ้มครองเงินฝากให้แก่ผู้ฝากเงิน โดยจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้ฝากโดยเร็ว เมื่อสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต เก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินที่ได้รับความคุ้มครอง เพื่อสะสมไว้เป็นกองทุนคุ้มครองเงินฝาก สำหรับใช้ในการจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้ฝากเงินตามวงเงิน และระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

หากสถาบันการเงินใดถูกเพิกถอนใบอนุญาต และชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต และนำเงินที่ได้รับจากการชำระบัญชี จ่ายคืนให้แก่ผู้ฝากในกรณีที่มีเงินฝากเกินวงเงินที่กำหนดนั้นเอง

ปัจจุบันเกณฑ์คุ้มครองเงินฝากที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ไม่เกิน 1 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ 11 สิงหาคม 2564 วงเงินคุ้มครองเงินฝากที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะให้ความคุ้มครองจากวงเงิน 5 ล้านบาท จะกลับเข้าสู่ระดับ 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเผยว่า เกณฑ์ดังกล่าวกำหนดไว้ในมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2564 มีผู้ฝากได้รับความคุ้มครองเงินฝากเต็มประมาณ 82 ล้านราย คิดเป็น 98% ของผู้ฝากทั้งระบบ ซึ่งถือเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

เกณฑ์นี้จะครอบคลุม 35 สถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ไทย 19 แห่ง ธนาคารต่างประเทศ 11 แห่ง บริษัทเงินทุน 2 แห่ง บริษัทเครดิตฟองซิเออร์ 3 แห่ง โดยเฉพาะธนาคารที่ประชาชนใช้บริการกันอยู่ เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งมีธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก

ทุกคนทราบหรือไม่ว่า ธนาคารออมสิน (Government Savings Bank) มีสถานะรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง เป็นธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อย เน้นการให้สินเชื่อเพื่อพัฒนาชนบท พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย แตกต่างจากธนาคารอื่น ๆ โดยมีรูปแบบของสินเชื่อ และชนิดการฝากเงินรายย่อยมากมาย อีกทั้งยังสร้างเงินทุนหมุนเวียนในกลุ่มชุมชน โครงการธนาคารเพื่อประชาชน

โดยให้สินเชื่อระยะสั้น แก่ผู้ประกอบการรายย่อย ให้ประชาชนมาเป็นหนี้ในระบบ ที่สามารถตรวจสอบได้ และการเก็บดอกเบี้ยตามความเป็นจริง เป็นช่องทางการรับ และจ่ายเงินกู้จากโครงการกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง อีกทั้งยังลงทุนในการพัฒนาประเทศ ของหน่วยงานรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจให้บริการรูปแบบเงินฝากที่หลากหลาย เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย รวมทั้งมีการให้บริการตามหลักศาสนาอิสลาม

ทั้งนี้ ธนาคารมีผลิตภัณฑ์เงินฝากที่เปิดให้บริการลูกค้าเทียบเท่ากับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ได้แก่ เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 4 เดือน อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อปี และเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 7 เดือน อัตราดอกเบี้ย 0.45% ต่อปี รวมถึงสลากดิจิทัล 1 ปี หรือ 2 ปี โดยบุคคลธรรมดาจะได้รับการยกเว้นภาษี

ในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ธนาคารออมสินได้ชี้แจงการคุ้มครองเงินฝากลูกค้า เป็นไปตาม พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 และไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก โดยสรุปเนื้อหาได้ดังนี้

1.ธนาคารออมสิน เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จัดตั้งขึ้น และดำเนินการงานตาม พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 และไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก ดังนั้น การที่
สถาบันคุ้มครองเงินฝากประกาศปรับลดวงเงินคุ้มครองฯ จึงไม่ได้ส่งผลต่อการคุ้มครองเงินฝากของลูกค้าธนาคารออมสิน แต่อย่างใด

2.ธนาคารออมสิน เป็นธนาคารของรัฐที่มีสถานะพิเศษ ต่างจากสถาบันอื่นทั้งหมด โดย พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 มาตรา 21 มีสาระสำคัญ คือ การคืนเงินต้น และการจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้แก่ผู้ฝากเงินกับธนาคารออมสิน มีรัฐบาลเป็นประกันทั้งสิ้น

3.ปัจจุบันธนาคารออมสิน มีสถานะการเงินที่มั่นคงแข็งแกร่ง โดยมีฐานเงินฝาก และสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสถาบันการเงินของรัฐ