ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อเนื่อง รับตัวเลขเศรษฐกิจดีกว่าคาด

dollar money

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง รับตัวเลขเศรษฐกิจดีกว่าคาด หลังสหรัฐมีการเปิดเผยตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัวอยู่ที่ 1.4% มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ นักลงทุนยังจับตาดูตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ที่จะเปิดเผยในคืนวันพฤหัสบดี (28/3) นี้ด้วย

วันที่ 27 มีนาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 27 มีนาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/3) ที่ระดับ 36.3738 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (26/3) ที่ระดับ 36.30/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ

โดยเมื่อคืนนี้ (26/3) ทางสหรัฐได้มีการเปิดเผยตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนในเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัวอยู่ที่ 1.4% เมื่อเทียบรายเดือน มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.2% และมากกว่าในเดือนมกราคมที่หดตัวอยู่ที่ 6.2% ในขณะที่ตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐานในเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัวอยู่ที่ 0.5% เมื่อเทียบรายเดือน มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 04% และมากกว่าในเดือนมกราคมที่หดตัวอยู่ที่ 0.4% ซึ่งจากตัวเลขที่ออกมามากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น

ทางด้านผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 104.7 ในเดือนมีนาคม จากระดับ 104.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 106.9 ทั้งนี้นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ในคืนวันศุกร์ (29/3) ซึ่งเป็นข้อมูลเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 2.4% ในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อเทียบรายปี ลดลงจาก 2.5% ในเดือนมกราคมและคาดว่าดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 2.8% ในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อเทียบรายปี ทรงตัวจาก 2.8% ในเดือนมกราคม

นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตาดูตัวเลข GDP ประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ที่จะเปิดเผยในคืนวันพฤหัสบดี (28/3) โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 3.2% ทั้งนี้นักลงทุนได้ปรับเพิ่มน้ำหนักการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% ในเดือน มิ.ย. ทั้งนี้ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากที่เฟดประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ ระดับ 5.25-5.50% โดยจากถ้อยแถลงของนายเจอโรม ประธานเฟด ยังคงกล่าวว่าเฟดมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2567 โดยจะปรับลดครั้งละ 0.25%

ล่าสุดเครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 66.8% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งแรกในการประชุมเดือนมิถุนายน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 55.6% ในสัปดาห์ที่แล้ว

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง ได้กล่าวเกี่ยวกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่าจะยังเดินหน้าดำเนินนโยบาย และจะรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และขอให้ประชาชนเตรียมรอฟังข่าวดีในวันที่ 10 เมษายน

ระหว่างวันค่าเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 36.50 โดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 36.35-36.50 และปิดตลาดที่ระดับ 36.43/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/3) ที่ระดับ 1.0824/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (26/3) ที่ระดับ 1.0851/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0819-1.0838 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0826/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/3) ที่ระดับ 151.68/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (26/3) ที่ระดับ 151.23/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ระหว่างวันเยนได้อ่อนค่าแตะระดับ 151.97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 34 ปี หลังจากที่นายนาโอกิ ทามูระ หนึ่งในกรรมการของ BOJ ได้กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะยังคงอยู่ที่ระดับใกล้ 0% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยถึงแม้ว่าทาง BOJ จะมีการปรับมาใช้นโยบายการเงินแบบปกติแล้ว หลังจากที่คงอัตราดอกเบี้ยติดลบมาเป็นระยะเวลานาน แต่ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่น และสหรัฐยังคงกว้าง ทำให้นักลงทุนเทขายเงินเยนเพื่อเข้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้นายซึนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นกล่าวว่า จะใช้มาตรการตอบสนองอย่างจริงจังต่อกรณีที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงมากจนเกินไป โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 151.09-151.97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 151.38/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.พ.ของออสเตรเลีย (27/3), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาส 4/2566 ของสหรัฐ (28/3), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (28/3), รายงานยอดขายบ้านที่รอการปิดการขายเดือน มี.ค.ของสหรัฐ (28/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (28/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของกรุงโตเกียว (29/3) และดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลเดือน ก.พ. ของสหรัฐ (29/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.2/-9.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.2/-5.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ