นักวิเคราะห์ ชี้ดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% ไม่เหมาะสม ไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ

ดอกเบี้ย

นักวิเคราะห์ชี้ ดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% ไม่เหมาะสม ไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ เผยอัตราดอกเบี้ยแท้จริงของไทยสูงมากกว่า 3% สะท้อนมีพื้นที่ลดดอกเบี้ยได้ ระบุเศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างเลวร้าย เมื่อเทียบประเทศเพื่อนบ้าน

วันที่ 10 เมษายน 2567 นายประกิต สิริวัฒนเกตุ นักกลยุทธ์การลงทุน กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ กล่าวว่า ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติ 5 ต่อ 2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.50% ต่อปี ไม่ผิดคาด เพราะที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่าดอกเบี้ยที่ระดับ 2.50% เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริงไม่เหมาะสม

“แต่ถามว่าดอกเบี้ยระดับนี้ เหมาะสมไหม มองว่าไม่เหมาะสม เพราะเศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างเลวร้าย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด จนบัดนี้ GDP ของไทยยังแค่ปริ่ม ๆ เมื่อเทียบตอนก่อนโควิด ซึ่งต่างจากประเทศอื่น GDP ขึ้นไปกันหมดแล้ว

แล้วผลกระทบการขึ้นดอกเบี้ยที่ผ่านมา ก็ไม่ก่อให้เกิดผลดีด้านใดเลย ไม่มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในประเทศ ไม่มีเงินเข้ามาซื้อพันธบัตร ค่าเงินไม่แข็งค่า คือ ไม่เห็นจะมีดีอะไรเลย อาจจะบอกว่าช่วยกดให้เงินเฟ้อลงมา ซึ่งที่ผ่านมา ก็พูดเองว่าเงินเฟ้อลงเพราะรัฐบาลอุดหนุนพลังงาน มีการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ซึ่งสงสัยว่าขึ้นดอกเบี้ยทำไมช่วงที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีผลดีอะไร เศรษฐกิจก็แย่”

นายประกิตกล่าวว่า หากจะลดดอกเบี้ย ควรจะตอนไหนถึงจะเหมาะสม ก็ต้องบอกว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ จึงมีความกังวลว่า ถ้าไปลดดอกเบี้ยก่อน จะมีปัญหากับค่าเงินบาท แต่อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่า ธปท. จะลดดอกเบี้ยไม่ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วสามารถลดดอกเบี้ยได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยแท้จริงของไทยสูงมากกว่า 3% สะท้อนว่ามีพื้นที่ในการลดดอกเบี้ยได้

“การคงดอกเบี้ย ไม่มีผลต่อภาวะการลงทุน เพราะทุกคนคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว” นายประกิตกล่าว