ค่าเงินบาทอ่อนค่าตามตลาดเกิดใหม่ ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 25-39 มิ.ย. 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์ (25/6) ที่ระดับ 32.94/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (22/6) ที่ระดับ 32.95/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการปรับตัวอ่อนค่าลงของสกุลเงินหลักในตะกร้า ถึงแม้ว่าดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ อ่อนตัวลงสู่ระดับ 56.0 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน หลังจากแตะ 56.6 ในเดือนพฤษภาคม โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของธุรกิจใหม่ และการจ้างงาน อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงอยู่สูงกว่าระดับ50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้ปรับตัวแข็งค่าตลอดทั้งสัปดาห์จากราคา น้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น 2.94% ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่าจะมีการคว่ำบาตรบริษัทต่าง ๆ หากมีการซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่าน นอกจากนี้ราคาน้ำมันยังปรับตัวสูงขึ้นหลังจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสที่ปรับตัวลดลงมากกว่าการคาดการณ์ โดยปรับตัวลดลง 9.9 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา มากกว่าการคาดการณ์ที่จะปรับตัวลดลงเพียง 2.6 ล้านบาร์เรล ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีแรงซื้อดอลลาร์สหรัฐอย่างมาก ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ประกาศในวันพฤหัสบดีว่า GDP ไตรมาส 1 ของปีนี้ได้ขยายตัวเพียง 2.0% ต่อปี ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ 2.2% จากการประเมินในครั้งก่อนเมื่อเดือน พ.ค. และเทียบกับที่โต 2.9% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2017 การปรับตัวเลข GDP ไตรมาสแรกให้ต่ำลงมาสะท้อนภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ซบเซามากกว่าคาด รวมทั้งยอดสินค้าคงคลังที่มีต่ำกว่าที่ทางการสหรัฐได้ประเมินไว้เมื่อเดือนที่แล้ว ในขณะที่ตลาดเฝ้าดูสถานการณ์สงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นระหว่างสหรัฐ และประเทศคู่ค้ารายอื่น ๆ หลังจากนายสวีเดน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐประกาศว่า รัฐบาลสหรัฐเตรียมออกมาตรการจำกัดการลงทุนต่อทุกประเทศทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะจีนเท่านั้น หากพบว่าประเทศใดละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาต่อสินค้าด้านเทคโนโลยีของสหรัฐ

ในขณะที่ค่าเงินบาท ปรับตัวอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 7 เดือน ที่ระดับ 33.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลมาจากเงินทุนต่างชาติยังไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 15-20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ต่างชาติขายหุ้นไทย 1.6 หมื่นล้านบาท และขายพันธบัตร 2.7 หมื่นล้านบาท สำหรับธนาคารกลางในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซียเตรียมแก้ปัญหาค่าเงินรูเปียร์ ที่อ่อนด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบ 1 เดือน ส่วนฟิลิปปินส์ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นรอบที่ 2ของปี ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย คงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% และยังไม่ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยชัดเจน อย่างไรก็ตามการอ่อนค่าของสกุลเงินในภูมิภาคตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. (หลังธนาคารกลางสหรัฐ ปรับขึ้นดอกเบี้ย) ถึงปัจจุบันพบว่า ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่า 3.49% วอน-เกาหลีใต้ 3.42% รูเปียห์ อินโดนีเซีย 2.57% หยวน-จีน 2.96% ดอลลาร์-สิงคโปร์ 1.36% ริงกิต-มาเลเซีย 1.35% โดยนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เสถียรภาพททางการเงินของประเทศไทยยังคงแข็งแกร่ง และพึ่งพาเงินตราต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่ จึงสามารถรองรับความผันผวนได้ ทาง ธปท.ยังติดตามสถานการณ์เงินทุนไหลออก และสถานการณ์ค่าเงินในปัจจุบันอย่างใกล้ชิด โดยระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 32.87-33.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตัวที่ระดับ 33.13/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1654/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาด (22/6) ที่ 1.1655/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อย่างไรก็ดีค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นต้นของยูโรโซน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.8 ในเดือนมิถุนายน จากระดับ 54.1 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งบ่งชี้ว่ากิจกรรมในภาคธุรกิจของยูโรโซนขยายตัวในอัตราที่เร็วขึ้น และเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน นอกจากนี้ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และยูโรโซนก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนยังคงวิตกกังวลอยู่เช่นกัน หลังเจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปได้ประกาศจัดเก็บภาษีสินค้าของสหรัฐมูลค่า 2.8 พันล้านยูโรเมื่อสัปดาห์ก่อน เพื่อเป็นการตอบโต้การจัดเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ซึ่งในภายหลังได้มีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่า ความพยายามของสหภาพยุโรป (EU) ในการจุดชนวนสงครามการค้าด้วยการจัดเก็บภาษีสินค้าของสหรัฐนั้น จะถูกตอบโต้กลับมาและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินมองว่าการตอบโต้ของ EU นั้นจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงจุดยืนที่แข็งกร้าวทางเศรษฐกิจของสหรัฐได้ ในขณะที่ตลาดจะเฝ้าดู ผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) ประชุมสุดยอด (ซัมมิต) ที่กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยี่ยม ช่วง 28-29 มิ.ย. มีวิกฤตผู้อพยพเป็น 1ในหัวข้อหลักการประชุม รวมทั้งการปฏิรูปเงินยูโรและข้อตกลงการออกจากอียูของอังกฤษ โดยตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1525-1.1720 ดอลลาร์สหรัฐ/
ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1648/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนสัปดาห์นี้ ค่าเงินเยนเปิดตลาดที่ระดับ 109.67/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (22/6) ที่ระดับ 109.96/98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการเปิดเผย สรุปความคิดเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่ซบเซาของญี่ปุ่นนั้นยังเป็นสิ่งที่กรรมการหลายท่านวิตกกังวล โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสด ปรับตัวขึ้น 0.7% ในเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ถึงแม้ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 แต่ก็ยังคงอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของ BOJ ซึ่งกำหนดไว้ที่ระดับ 2% นอกจากนี้ยังมีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า บริษัทต่าง ๆ ยังคงระมัดระวังในการขึ้นค่าแรงให้กับพนักงาน ทำให้แนวโน้มในการบรรลุเป้าหมายเสถียรภาพด้านราคาน่าจะยังคงต้องใช้เวลาต่อไป โดยตลอดสัปดาห์ค่าเงินเยน
เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.35-110.78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.64/66 เยน/
ดอลลาร์สหรัฐ