ฝากเงินที่ไหนได้ดอกเบี้ยสูงสุด (ตอนที่ 1)

คอลัมน์ พินิจ พิเคราะห์

โดย กิติชัย เตชะงามเลิศ www.facebook.com/Vikittichai

ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสถาบันการเงินของไทย จากรูปภาพที่ 1 ที่ผมได้มาจากเว็บไซต์ https://tradingeconomics.com/thailand/deposit-interest-rate

ภาพที่ 1 : อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของประเทศไทยในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา

ในภาพนี้แสดงให้เห็นว่าช่วงระหว่างปีค.ศ.1990-1991 (พ.ศ.2533-2534) ช่วงนั้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของประเทศไทย เคยขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 14% ต่อปี ช่วงนั้นเป็นช่วงที่สมัยที่ประเทศไทยเรามีนายกที่ชื่อว่า พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ(4/8/2531 – 23/2/2534) ซึ่งต่อมาก็ถูกปฏิวัติโดยคณะปฏิวัติ ที่มีพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2534 แล้วคณะปฏิวัติได้จัดตั้งรัฐบาล ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี(2/3/2534 – 7/4/2535) ขึ้นมาปกครองประเทศเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2534) สมัยท่านนายกชาติชาย เป็นช่วงที่เงินสะพัดมาก และผมคิดว่าเป็นช่วงที่มีเงินสะพัดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ธุรกิจต่างๆต้องการขยายกำลังการผลิต และมีการเก็งกำไรกันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ มีการสร้างสนามกอล์ฟ อาคารสำนักงาน คอนโดที่อยู่อาศัย มากกว่าความต้องการใช้งานจริงๆ หลังจากเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปีพศ. 2540 ในสมัยที่ท่านพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี(25/11/2539 – 9/2/2540) โดยมี ดร.ทนง พิทยะ เป็นรัฐมนตรีคลัง ซึ่งได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐที่เคยอยู่แถวๆ 25 บาท ได้อ่อนตัวอย่างรวดเร็ว โดยช่วงที่อ่อนตัวมากที่สุดอยู่ที่ 56.75 บาท เมื่อปี 2540 (ตามภาพที่ 2)

ภาพที่ 2 : ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ช่วงระหว่างปี1997-2018
ภาพจาก : www.investing.com

ในสมัยนั้น สนามกอล์ฟแทบจะร้าง นักกอล์ฟหายไปเป็นจำนวนมาก เพราะมีหลายๆบริษัท ห้างร้าน หรือกิจการต่างๆ ที่ต้องปิดตัวลงไป พนักงานถูกเลย์ออฟเป็นจำนวนมาก หลายๆอาคารกลายเป็นอาคารร้าง เพราะว่าคนที่จองซื้อคอนโด หรือซื้อสมาชิกสนามกอล์ฟ ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มนักเก็งกำไรเสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อฟองสบู่แตก จึงเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น

จากรูปภาพที่ 3 แสดงให้เห็นว่า มีการเก็งกำไรในตลาดหุ้นเป็นอย่างมาก ช่วงนั้นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไต่ระตับจาก 243.97 ในเดือนธันวาคม ปีพศ.2530 วิ่งไปทำจุดสูงสุดที่ 1,143.78 ในเดือนกรกฎาคม ปีพศ. 2533 เท่ากับว่าขึ้นมาถึง 899.81 จุด หรือคิดเป็น 368.82%โดยใช้เวลาเพียง 2 ปีกับ 7 เดือนเท่านั้น หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 142.79% ในช่วงเวลานั้นนักลงทุนและนักเก็งกำไรอู้ฟู่กันถ้วนหน้า เห็นอย่างนี้แล้ว ฟองสบู่จะไม่แตกได้อย่างไรครับ ซึ่งเห็นได้ว่าหลังจากที่ไปทำจุดสูงสุดดังกล่าวแล้ว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็หล่นลงมาอย่างแรง โดยลงไปจุดต่ำสุดที่ 544.30 จุดในเดือนพฤศจิกายน ปีพศ.2533 โดยลงไปถึง 599.48 จุด หรือคิดเป็น 52.41 % ภายในเวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น ช่วงนั้นไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนหรือนักเก็งกำไรก็ล้วนแต่จะกระอักเลือดตายกันทั้งนั้น

ภาพที่ 3 : ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2530 ถึง 2533

ถ้าเทียบกับช่วงปัจจุบันซึ่งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ลงจากจุดสูงสุดของปีนี้ที่ 1,852.51 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ไปทำจุดต่ำสุดที่ 1,584.68 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน(รูปภาพที่ 4) ลงมา 267.83 จุดคิดเป็น 14.46% ภายในเวลาประมาณ 4 เดือนเท่ากัน ถือได้ว่าช่วงปัจจุบันนี้เป็นการลงที่น้อยมากเมื่อเทียบกับช่วงสมัยก่อน เป็นโชคดีของนักลงทุนรุ่นหลังๆ ที่ยังไม่เคยเจอการลงแบบมหาโหดเหมือนกับนักลงทุนรุ่นก่อนๆ

ภาพที่ 4 : ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ช่วงต้นปี 2561 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2561

ยังไม่ได้เข้าถึงเรื่องการฝากดอกเบี้ย ที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุด เนื้อที่ก็หมดแล้วมาติดตามอ่านกันในสัปดาห์หน้าครับ

 

คลิกอ่าน >> ฝากเงินที่ไหนได้ดอกเบี้ยสูงสุด (ตอนจบ)