ราคาน้ำมันดิบเพิ่มต่อ หลังปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐปรับลดราว 3.3 ล้านบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเพิ่มต่อ หลังปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐปรับลดราว 3.3 ล้านบาร์เรล และ El Sharara ยังไม่เปิดดำเนินการ

+ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มต่อเนื่อง หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA)ได้รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงประมาณ 3.3 ล้านบาร์เรล ลงมาแตะระดับ 463.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 8 และเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮม่า ปรับลดลงในระดับที่น้อยกว่าหรือราว 503,000 บาร์เรล

+ ราคาน้ำมันดิบยังได้แรงหนุนจาก แหล่งน้ำมันดิบ El Sharara ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศลิเบีย ที่ได้หยุดชะงักไปอีกครั้ง หลังประกาศว่าจะกลับเข้ามาเปิดดำเนินการท่อขนส่งน้ำมันดิบที่มีกำลังการผลิต 280,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา จากเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) จากการถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายปิดล้อมตั้งแต่วัน 20 ส.ค. ทำให้หลายฝ่ายยังจับตามองอยู่ว่าจะกลับเข้ามาได้เมื่อใด

+ พายุฤดูร้อน Harvey บริเวณอ่าวเม็กซิโก ยังคงสร้างความกังวลให้แก่นักวิเคราะห์และนักลงทุน เนื่องจากมีโอกาสพัฒนาเป็นพายุเฮอร์ริเคนในช่วงปลายสัปดาห์และส่งผลให้เกิดดินถล่มในแถบชายฝั่งเท็กซัส ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขุดเจาะน้ำมันดิบและโรงกลั่นน้ำมันตลอดชายฝั่ง

– อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันโดยเฉพาะเวสต์เท็กซัส อาจปรับลดลงในระยะอันใกล้ จากการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับโรงกลั่นเริ่มปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปลงในช่วงปลายฤดูร้อน ทำให้อุปสงค์น้ำมันดิบสำหรับการท่องเที่ยวคาดว่าจะปรับลดลง

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังสถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) ประกาศปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่ม 1.4 ล้านบาร์เรล ประกอบกับการส่งออกน้ำมันเบนซินจากประเทศจีนยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีแรงหนุนจากอุปสงค์ทางด้านอินโดนิเซียและเคนยา อย่างไรก็ตาม ตลาดโดนกดดันจากอุปทานจากตะวันออกกลางและอินเดีย

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 46-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 49-54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกัน หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ คงกำลังการกลั่นอยู่ในระดับสูงสุดต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศและภูมิภาค รวมถึงการนำเข้าน้ำมันดิบที่คาดจะปรับลดลง

ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่พยายามเพิ่มความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศลดการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ก.ย.60 ลง ในขณะที่อิรัก ปริมาณการส่งออกในเดือน ส.ค. มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยจากข้อมูลของ Reuters พบว่าปริมาณการส่งออก 14 วันของเดือน ส.ค. ปรับลดลง 80,000 บาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ระดับ 3.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน แสดงให้เห็นว่าอิรักมีแนวโน้มทำได้ตามข้อตกลงมากขึ้น

จับตาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียที่เพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มกลับมาส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบ โดยล่าสุดไนจีเรียคาดปริมาณการผลิตและส่งออกจะเพิ่มขึ้น หลังมีการประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) สำหรับการส่งออกน้ำมันดิบ Bonny Light กำลังการผลิต 200,000 บาร์เรลต่อวัน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา