“เจ้าสัวเจริญ” เปิดศึกธุรกิจการเงิน “ลีสซิ่ง”แข่งเดือดขาใหญ่โดดแย่งแชร์

สมรภูมิตลาดเช่าซื้อรถ 1.76 ล้านล้านเดือด ยักษ์ใหญ่แห่โดดร่วมวงเต็มตัว “เครือไทย โฮลดิ้ง-แบงก์ออมสิน-เอ็มบีเค” ท้าชนธนาคารเจ้าตลาด วงในเผยมาร์จิ้นสูง ยักษ์เล็กยักษ์ใหญ่แย่งเค้ก รายเล็กรายกลางชักแถวเข้าตลาดหุ้นเสริมแกร่งสู้ศึก

“ฐากร ปิยะพันธ์” ซีอีโอกลุ่มการเงินเจ้าสัวเจริญ ประกาศนำทัพขยายพอร์ตเช่าซื้อ-จำนำทะเบียน-ไมโครไฟแนนซ์ทุกรูปแบบ เตรียมเปิดแผนธุรกิจ เดือนธันวาคม นี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สนามการแข่งขันกลุ่มธุรกิจเช่าซื้อรถกำลังร้อนระอุขึ้น เมื่อมียักษ์ใหญ่กระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่หลายราย ไม่ว่าจะเป็น “ธนาคารออมสิน” ที่ประกาศบุกตลาด “จำนำทะเบียน” ต้นปี 2564 ด้วยนโยบาย “ดอกเบี้ยต่ำ” เพื่อลดภาระประชาชน นอกจากนี้ กลุ่มมาบุญครอง (MBK) ล่าสุดก็ใส่เงินเพิ่มทุน 3,500 ล้านบาท ให้กับบริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด (บริษัทร่วมทุนของ บมจ.ธนชาต) เพื่อรุกตลาดเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ พร้อมเสริมความแข็งแกร่งด้วยการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

รวมทั้ง บมจ.เครือไทย โฮลดิ้ง กลุ่มธุรกิจการเงิน-ประกันของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งที่ผ่านมาได้ปรับโครงสร้างธุรกิจ และล่าสุดก็ได้ดึง นายฐากร ปิยะพันธ์ อดีตผู้บริหารกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในตลาดสินเชื่อรายย่อย เข้าไปเป็น “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” ส่งสัญญาณถึงการเปิดเกมรุกในตลาดดังกล่าวอย่างเต็มที่

เช่าซื้อ 1.76 ล้านล้าน เนื้อหอม

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวว่า ตลาดเช่าซื้อส่วนใหญ่จะเป็นการเช่าซื้อรถยนต์ โดยปัจจุบันประเมินว่ามีมูลค่าตลาดสูง 1.76 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น เช่าซื้อรถใหม่กว่า 70% (ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) เช่าซื้อรถมือสองราว 20% (ราว 3.6 แสนล้านบาท) ที่เหลืออีก 8-9% เป็นสินเชื่อรถแลกเงิน หรือสินเชื่อจำนำทะเบียน (ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท)

“ตลาดเช่าซื้อรถยนต์ซึ่งรวมถึงรถกระบะ และรถตู้ ถูกครองตลาดโดยกลุ่มแบงก์ ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 70% ขณะที่กลุ่ม captive finance (ให้บริการสินเชื่อกับค่ายรถยนต์) และลีสซิ่งของค่ายรถ จะอยู่ที่ประมาณ 26% ส่วนกลุ่มน็อนแบงก์มีแค่ 3% ถือว่ายังน้อย ดังนั้น เจ้าใหม่ ๆ ที่เข้ามาก็คงมองว่า ตลาดนี้น่าสนใจ เพราะยังมีช่องวางให้เข้ามาได้อีกมาก”

สำหรับปีนี้ซึ่งมีสถานการณ์โควิด-19 สินเชื่อรถใหม่ชะลอตัวลง ดังนั้น จึงเห็นกลุ่มแบงก์หันมาให้ความสำคัญกับสินเชื่อรถแลกเงิน หรือจำนำทะเบียนรถมากขึ้น ซึ่งตลาดนี้จะเป็นสมรภูมิที่ดุเดือด เพราะคนต้องการเงิน ต้องการสภาพคล่อง เมื่อมีรถยนต์อยู่ในความครอบครอง ดังนั้น จึงเป็นโอกาสในการปล่อยสินเชื่อประเภทนี้

มาร์จิ้นสูง-สมรภูมิเดือด

นายนริศกล่าวอีกว่า นอกจากตลาดยังมีช่องว่างแล้ว ในแง่มาร์จิ้นก็ถือว่าดี แม้จะถูกกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ปัจจุบันดอกเบี้ยไม่ได้สูงมาก แต่ก็ถือว่าสูงกว่าปล่อยสินเชื่อประเภทอื่นอย่าง สินเชื่อบ้าน เป็นต้น

ขณะที่การเข้ามารุกตลาดจำนำทะเบียนรถของธนาคารออมสิน เป็นเรื่องต้องจับตา เพราะจะเป็นการดิสรัปต์ตลาด เนื่องจากประกาศว่าจะคิดดอกเบี้ยต่ำกว่า 18% ต่อปี รวมถึงเป็นแบงก์รัฐที่มีสาขาจำนวนมาก และเป็นขวัญใจคนทำมาหากิน พ่อค้าแม่ค้าอยู่แล้ว

“การเข้ามาของออมสินน่าจะทำให้เกิดสงครามราคา ตลาดแข่งขันรุนแรงขึ้น เป็นเรื่องดีต่อผู้บริโภค เพราะการมีผู้แข่งขันมากขึ้นเป็นเรื่องดี กลไกตลาดก็จะทำงานได้ดีขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจก็ต้องปรับตัวกันไป” นายนริศกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดเช่าซื้อรถยนต์ส่วนใหญ่อยู่ในมือธนาคาร ซึ่งที่เป็นผู้นำตลาดก็คือธนาคารกรุงศรีฯ ขณะที่สินเชื่อ “รถแลกเงิน” หรือ “จำนำทะเบียน” เจ้าตลาดก็จะเป็นกลุ่มน็อนแบงก์

“เจ้าสัวเจริญ” เปิดเกมใหม่

ด้านนายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ SEG กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจเช่าซื้อถือเป็นธุรกิจตลาดค่อนข้างใหญ่ และมีโอกาสพอสมควรในการเติบโตหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัด ซึ่งธุรกิจในบริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ มีการดำเนินธุรกิจเช่าซื้อภายใต้บริษัท อาคเนย์แคปปิตอล แต่เป็นการดำเนินธุรกิจรถยนต์ให้เช่า เพื่อการดำเนินงานในองค์กร ซึ่งยังไม่ได้ขยายธุรกิจไปสู่ประเภทอื่น

อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มและโอกาสการเติบโตของตลาดเช่าซื้อ บริษัทมีความสนใจได้เตรียมวางโครงสร้างพื้นฐานและแผนธุรกิจเพื่อการรองรับในการขยายธุรกิจเช่าซื้อไปสู่ตลาดอื่น ๆ โดยเฉพาะตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียน ซึ่งเป็นตลาดที่น่าสนใจ รวมถึงธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ แม้ว่าการแข่งขันจะสูง แต่เป็นธุรกิจที่มองว่าเป็นโอกาสที่บริษัทจะเข้าไปทำตลาดในอนาคต

“ตอนนี้เราทำแค่ธุรกิจรถเช่าในองค์กร แต่เรามองระยะยาว โอกาสของธุรกิจนี้มีสูงพอสมควร ซึ่งตอนนี้แม้จะมีเรื่องของโควิด-19 เข้ามากระทบ แต่ในระยะยาวยังเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ ซึ่งเราได้มีการวางโมเดลธุรกิจและแผนธุรกิจที่จะเข้าไปต่อยอดจากธุรกิจที่มีอยู่ ซึ่งกำลังทำอยู่ น่าจะมีแผนชัดเจนในเดือนธันวาคมนี้”

รุมทึ้งเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์

นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพธุรกิจเช่าซื้อหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ กลับมาดีขึ้น จากเดิมที่หดตัวกว่า 50% ปัจจุบันหดตัวเหลือ 10% ถือเป็นตลาดน่าสนใจมาก โดยเฉพาะตลาดรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่มาก ทำให้เห็นว่าจะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาแข่งขัน และเล่นในตลาดเช่าซื้อมากขึ้น

สำหรับผู้ประกอบการเช่าซื้อภายใต้กำกับ ธปท. มีประมาณ 20 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นบริษัทในเครือธนาคาร แต่ผู้ประกอบการเช่าซื้อและจำนำทะเบียนที่เป็นสมาชิกของสมาคมมีทั้งหมด 45-46 ราย ซึ่งยังไม่นับรวมไฟแนนซ์ท้องถิ่นในจังหวัดต่าง ๆ ที่มีกว่า 100 บริษัท ถือว่าผู้เล่นมีจำนวนมาก แต่ผู้เล่นรายใหญ่มีไม่มาก

เปิดศึกดัมพ์ดอกเบี้ย

อย่างไรก็ดี หากดูสนามการแข่งขันยังคงอยู่ที่ “อัตราดอกเบี้ย” ที่ยังแข่งกันรุนแรง โดยผู้ประกอบการหลายรายทยอยออกแคมเปญ เช่น รถยนต์มือสอง โดยเฉลี่ยจะคิดดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ 3.75% ต่อปี แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นแข่งกันที่ 2.79-2.99% ต่อปี ถือว่าค่อนข้างต่ำใกล้เคียงอัตราดอกเบี้ยรถใหม่ที่อยู่ 2.5-2.8% ต่อปี โดยในส่วนของซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ รถยนต์มือสองก็มีแคมเปญดอกเบี้ยเริ่มต้น 2.79% ต่อปี และจำนำทะเบียนรถยนต์เริ่มต้นที่ 0.19% ต่อเดือน ถือว่าค่อนข้างถูก และสามารถแข่งขันในตลาดได้

“ต้องยอมรับว่าตลาดเช่าซื้อเป็นตลาดใหญ่ ทุกคนพยายามเข้ามาชิงเค้ก ส่วนหนึ่งเพราะปัจจุบันมีผู้เล่นรายใหญ่ไม่กี่ราย ทำให้หน้าใหม่สนใจที่จะเข้ามา เพราะธุรกิจเช่าซื้อและจำนำทะเบียนรถเป็นธุรกิจที่พอจะมีมาร์จิ้น และเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน ความเสี่ยงต่ำ ขึ้นอยู่กับประเภทและอายุรถ หากสามารถบริหารจัดการดีก็มีผลตอบแทนที่ดี”

“มีรถ มีตังค์” หั่นดอก 0.99%

นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เวิลด์ลีส กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มตลาดรถจักรยานยนต์ในไตรมาสที่ 4 เริ่มกลับมาขยายตัวตามยอดจดทะเบียนรถ แม้ว่าทั้งปียอดขายจะเหลือเพียง 1.4 ล้านคัน หรือหดตัว 30% แต่จะเห็นว่าตลาดมีโอกาสเติบโต มีผู้เล่นหันมาทำตลาดมากขึ้นทั้งรถใหม่-รถเก่า และจำนำทะเบียนรถ

“ในส่วนของบริษัทเตรียมออกแคมเปญ “มีรถ มีตังค์” โดยลูกค้าที่มีรถสามารถมาขอสินเชื่อได้ เพื่อช่วยลูกค้าเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกขึ้น ด้วยอัตราดอกเบี้ยสมเหตุสมผล โดยลูกค้าใหม่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.99% ต่อเดือน”

สำหรับลูกค้าเก่าอยู่ที่ 0.88% ต่อเดือน (แบบลดต้น ลดดอก) เฉลี่ยไม่ถึง 20% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระ 2 ปี

“เป้าหมายมีรถ มีตังค์ เบื้องต้นบริษัทเตรียมวงเงินไว้อยู่ที่ 500 ล้านบาท คาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ประมาณ 2.5-3 หมื่นราย คิดเป็นวงเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 2 หมื่นบาทต่อราย เป็นการทดลองตลาดช่วง 6 เดือนแรก หากได้ผลตอบรับที่ดีสามารถขยายวงเงินเพิ่มเติมได้ ซึ่งเรามองว่าตลาดนี้คุณภาพสินเชื่อน่าจะค่อนข้างดี”

ปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้าอยู่ที่ 1.4-1.5 แสนราย คาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างสิ้นปี 2563 จะอยู่ราว 4,000 ล้านบาท สำหรับปี 2564 บริษัทตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ เพื่อขยับส่วนแบ่งตลาดเป็น 20% จากปัจจุบันอยู่ที่ 10% โดยปล่อยสินเชื่อเฉลี่ยราว 6,000 คันต่อเดือน คิดเป็นยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ราว 4,400 ล้านบาท

ลีสซิ่งแห่เข้าระดมทุนตลาดหุ้น

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล หรือ MTC ผู้ให้บริการจำนำทะเบียนรายใหญ่เปิดเผยว่า จำนวนผู้เล่นในตลาดมีเพิ่มขึ้น ทั้งรายเก่าที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน้าใหม่ที่ประกาศลงสนาม ดังนั้น การแข่งขันจะมีมากขึ้น แต่เป็นสิ่งที่ทุกบริษัทเผชิญมาแล้ว และมองว่าคงไม่ถึงขั้นเป็นสงครามดอกเบี้ย

สำหรับในตลาดรถจักรยานยนต์ปีละ 1.5-1.7 ล้านคัน ในจำนวนนี้จะมาทำเช่าซื้อประมาณ 70% ซึ่งทำให้ตลาดมีโอกาสเติบโตได้อีก ทำให้มีผู้ประกอบการให้ความสนใจที่จะเข้ามาทำมากขึ้น

แหล่งข่าววงการธุรกิจเช่าซื้อเปิดเผยว่า ตอนนี้จะเห็นผู้ประกอบการธุรกิจลีสซิ่งหลายเจ้ากำลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทั้งบริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล หรือ NCAP บริษัท ศักดิ์สยามลีสซิ่ง (SAK) และบริษัท ที ลีสซิ่ง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเดิม แต่มีการวางแผนขยายธุรกิจให้กว้างมากขึ้น

ทั้งนี้ ตัวเลขจากการเก็บข้อมูลของ “กรุงศรี ออโต้” พบว่า ภาพรวมตลาดสินเชื่อยานยนต์ใน 9 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่าอยู่ที่ 342,000 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ชี้หนี้ครัวเรือนฉุดตลาด

ด้านนายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ฐิติกร (TK) ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่กล่าวว่า ปัจจุบันภาพรวมตลาดเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์มีมูลค่ากว่า 6.5 หมื่นล้านบาท จากตลาดรวมประมาณ 1.44 ล้านคัน ทิศทางการแข่งขันถือว่าสูงมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่วงดอกเบี้ยต่้ำ ทุกคนวิ่งหาธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง จึงไม่แปลกที่จะเห็นผู้เล่นรายใหญ่เข้ามา

“แต่ที่ผ่านมาจะมีคนที่ทำได้ดีและไปไม่รอด เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน เกิดภัยแล้ง ตัวเลขส่งออกหดตัว ทำให้ลูกหนี้มีกำลังการผ่อนชำระลดลงไปในทุก ๆ ตลาด ทั้งบ้าน รถยนต์ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล รวมไปถึงมอเตอร์ไซค์”

เพราะฉะนั้น เป็นจังหวะที่เข้ามาหรือไม่นั้นแล้วแต่คนจะมอง ขณะที่ผู้เล่นรายใหญ่เข้ามาแข่งก็ยังประเมินได้ลำบากว่าจะทำให้รายเล็ก ๆ ทำธุรกิจลำบากหรือไม่ ตอนนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารต้นทุน และประสบการณ์ในการทำธุรกิจนี้ และการคัดกรองลูกหนี้ และการเก็บเงิน

ผลตอบแทนสูง-มีหลักประกัน

นายเอนกพงศ์ พุทธาภิบาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า เนื่องจากมูลค่าตลาดเช่าซื้อค่อนข้างสูง ทำให้ผู้เล่นรายใหญ่สนใจเข้ามาไม่ว่าจะเป็น ธนาคารออมสิน, ที ลีสซิ่ง (บริษัทร่วมทุนของ บมจ.ธนชาต) บมจ.เครือไทย โฮลดิ้ง ฯลฯ

“ธุรกิจนี้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง จากที่ ธปท.กำหนดเพดานดอกเบี้ยไว้ที่ 24% ถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีหลักประกันที่สามารถป้องกันความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง”

นายเอนกพงศ์กล่าวว่า กรณีธนาคารออมสินจะให้บริการด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เชื่อว่าจะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งออมสินอยู่ระหว่างหาพันธมิตรร่วมทุน ซึ่งหากเป็นการจับมือกับรายเล็ก ผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดคงไม่มาก ในทางกลับกัน หากจับมือกับรายที่ค่อนข้างใหญ่ จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจมากขึ้น ซึ่งยังต้องติดตามความชัดเจนต่อไป

ขณะที่ผู้เล่นเดิมในตลาดจำนำทะเบียน ได้แก่ บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล, บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น มีข้อได้เปรียบที่จำนวนสาขา และบริการที่รวดเร็ว จึงต้องรอดูกลยุทธ์ของผู้เล่นรายใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา