ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังอุปทานตึงตัว ความต้องการใช้น้ำมันฟื้นตัว

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันฟื้นตัว

ปัจจัยบวก ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น ใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี หลังอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว เนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบในสหรัฐยังคงได้รับผลกระทบจากการพัดถล่มของเฮอร์ริเคนไอดา ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องนานกว่าที่คาด ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 17 ก.ย. 64 ปรับลดลง 3.5 ล้านบาร์เรล นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี ตามรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA)

ปัจจัยบวก ประเทศสมาชิกบางส่วนของกลุ่มโอเปกพลัส เช่น ไนจีเรีย แองโกลา และคาซัคสถาน ประสบปัญหาในการเพิ่มกำลังการผลิตตามข้อตกลง เนื่องจากการลงทุนด้านพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัดและความล่าช้าของการปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ปัจจัยบวก อินเดียนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 64 เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 64 หลังหลายโรงกลั่นเตรียมเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อตอบสนองการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันในช่วงไตรมาส 4/64

ปัจจัยลบ Baker Hudges รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐเพิ่มขึ้น 9 แท่น สู่ระดับ 521 แท่น ณ สัปดาห์สิ้นสุด 24 ก.ย. 64 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 64

ราคาน้ำมันเบนซิน

ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในภูมิภาค มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ปรับลด หนุนความต้องการใช้น้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันดีเซล

ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 22 ก.ย. 64 ปรับลดลง 14,000 บาร์เรล สู่ระดับ 10.85 ล้านบาร์เรล

ที่มา ไทยออยล์