ค่าเงินบาทแข็งค่า หลังตลาดเริ่มคลายคความกังวลต่อโอไมครอน

เงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/12) ที่ระดับ 33.39/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (8/12) ที่ระดับ 33.50/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือน พ.ย. 64 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 44.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 43.9 ในเดือน ต.ค. 64 โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 38.8, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ระดับ 41.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 54.5

โดยมีปัจจัยบวกคือ 1.ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อรองรับการเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พ.ย. 64 เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ (ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ) เข้าไทยโดยไม่ต้องกักตัว 2.การฉีดวัคซีนของทั้งโลกทำให้สถานการณ์โควิดระดับโลกปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการฉีดวัคซีนในประเทศที่เป็นรูปธรรมมาก ส่วนปัจจัยลบ

ได้แก่ 1.ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ที่แพร่ระบาดอยู่ในหลายประเทศ 2.ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัด ทั้งพื้นที่ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ 3.ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังชะลอตัวลงตลอดจนค่าครองชีพและราคาสินค้ายังทรงตัวในระดับสูง

ทั้งนี้ นักลงทุนกำลังติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทย หลังจากเมื่อจันทร์ (6/12) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แถลงยืนยันพบผู้ติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์โอไมครอนรายแรกในไทย นอกจากนี้ในวันนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนอีก 2 ราย โดยผู้ป่วยมีผลตรวจเป็นบวกในวันที่ 24 พ.ย. ซึ่งปัจจุบันได้รับการดูแลจนหายจนไม่พบเชื้อแล้ว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.37-33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.44/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/12) ที่ระดับ 1.1335/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (8/12) ที่ระดับ 1.1284/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากนายฟรังซัวส์ วิลเลอรอย เดอะ กาลฮาว ผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศส เปิดเผยในวันนี้ว่า ธนาคารกลางฝรั่งเศสได้ตัดสินใจปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2564 เทียบกับระดับ 6.3% ที่คาดการณ์เอาไว้ในเดือน ก.ย. และ 5.8% ที่คาดการณ์ไว้ในเดือน มิ.ย. เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1317-1.1347 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1320/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/12) ที่ระดับ 113.77/79 เยน/ดอลลาร์สหรับ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (8/12) ที่ระดับ 113.51/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หดตัวลง 3.6% ในไตรมาส 3/2564 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งย่ำแย่กว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่า GDP หดตัวลง 3%

เนื่องจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ของญี่ปุ่นหดตัว 0.9% ซึ่งย่ำแย่กว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่า GDP หดตัวลง 0.8% โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.36-113.82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 113.45/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือน ต.ค., อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน ธ.ค. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.50/-0.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.00/0.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ