อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่ง หนุนดอลลาร์แข็งค่า

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 5 มกราคม 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/1) ที่ระดับ 33.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (4/1) ที่ระดับ 33.29/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 58.7 ในเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2564 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 60.1 จากระดับ 61.1 ในเดือน พ.ย. สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลง 529,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 10.6 ล้านตำแหน่งในเดือน พ.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 11.075 ล้านตำแหน่ง ตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6.7 ล้านตำแหน่ง

ส่วนอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.5% ตัวเลขการลาออกจากงานโดยสมัครใจพุ่งขึ้น 370,000 ราย สู่ระดับ 4.5 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่อัตราการลาออกจากงานโดยสมัครใจอยู่ที่ระดับ 4.7% ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS นับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน

ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค. 64 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 2.17% แต่ลดลงจากเดือน พ.ย. -0.38% ส่งผลให้ทั้งปี 64 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยอยู่ที่ 1.23% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ธ.ค. 64 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 0.29% และเพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย. 0.05% ส่งผลให้ทั้งปี 64 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ยอยู่ที่ 0.23%

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 65 ไว้ที่ 0.7-2.4% โดยมีค่ากลางที่ 1.5% ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยแถลงไว้ในช่วงต้นเดือน ธ.ค. 64 เพราะจนถึงขณะนี้ แม้ในประเทศจะมีสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน แต่ก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่จะทำให้เงินเฟ้อปี 65 ต่างไปจากที่เคยประเมินไว้ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.15-33.26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/1) ที่ระดับ 1.1282/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (4/1) ที่ระดับ1.1300/02 ดอลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของเยอรมนี ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 57.4 ในเดือน ธ.ค. ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า แต่อยู่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ขั้นต้นที่ระดับ 57.9

นักวิเคราะห์ระบุว่า ปัจจัยลบที่กดดันภาคการผลิตของเยอรมนีนั้นมาจากปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และวัตถุดิบต่าง ๆ ซึ่งกระทบต่อหลายอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะในภาคยานยนต์ ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ บวกกับราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ได้ส่งผลให้บรรดาผู้ผลิตต้องปรับขึ้นราคาสินค้า จนทำให้ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ซึ่งสร้างความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อซึ่งท้ายที่สุดจะสร้างแรงกดดันต่อทั้งการบริโภคและการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1277-1.1310 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1302/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/1) ที่ระดับ 116.17/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (4/1) ที่ระดับ 115.85/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินเยนอ่อนค่า หลังนักลงทุนเทขายเงินเยนซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หลังตลาดเริ่มเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 115.88-116.25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 115.94/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญสัปดาห์นี้ ตัวเลขการจ้างงานภาคเกชนจาก ADP (5/1), รายงานการประชุมเฟด, ดัชนี PMI ภาคการบริการจาก ISM (6/1), ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ธ.ค. (7/1), อัตราการว่างงานเดือน ธ.ค. (7/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.5/0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.0/+1.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ