เงินบาทอ่อนค่า จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า เงินเฟ้อ ประชุมโอเปกพลัส

เงินบาท

เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ขณะที่หุ้นไทยหลุดแนว 1,700 จุดอีกครั้ง จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของไทย ทิศทางเงินลงทุนของต่างชาติ การประชุมกลุ่มโอเปกพลัส รวมถึงสถานการณ์รัสเซียและยูเครน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ 32.88 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงสวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางสัญญาณตึงเครียดของสถานการณ์ยูเครน หลังรัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางการทหารกับยูเครน ขณะที่ชาติตะวันตกทยอยประกาศมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ต่อรัสเซีย

นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงอ่อนค่าได้บางส่วนช่วงท้ายสัปดาห์ตามสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นของสินทรัพย์เสี่ยงและภาพรวมของสกุลเงินในเอเชีย

ในวันศุกร์ (25 ก.พ.) เงินบาทปิดตลาดที่ 32.50 เทียบกับระดับ 32.17 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (18 ก.พ.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (28 ก.พ.-4 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.20-32.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ระหว่างยูเครน-รัสเซีย รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนม.ค. ของธปท. ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูล PMI และ ISM ภาคการผลิตและภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP เดือนก.พ. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนม.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ของเฟด

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูล PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนก.พ. ของจีน อังกฤษ และยุโรปด้วยเช่นกัน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยหลุดแนว 1,700 จุด แม้จะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,679.90 จุด ลดลง 1.94 % จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 100,003.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.61% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ร่วงลง 2.41% มาปิดที่ 634.72 จุด

หุ้นไทยปรับตัวลงช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์โควิดในประเทศ หลัง สธ.ยกระดับเตือนภัยโควิดเป็นระดับ 4 หุ้นไทยร่วงลงเพิ่มเติมในระหว่างสัปดาห์สอดคล้องกับแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียดมากขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครน เนื่องจากรัสเซียเปิดการโจมตียูเครนด้วยกำลังทางการทหาร อย่างไรก็ดี หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังตอบรับปัจจัยลบไปพอควรแล้ว

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (28 ก.พ.- 4 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,670 และ 1,655 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,700 และ 1,720 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ การประชุมของกลุ่มโอเปกพลัส (2 มี.ค.) รวมถึงสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูล PMI ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงาน เดือนก.พ. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ข้อมูล PMI เดือนก.พ. ของจีน ญี่ปุ่นและยูโรโซน อัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน ตลอดจนการประชุมสภาประชาชนประจำปีของจีน