รัสเซีย-ยูเครน ธปท. ประเมินกระทบ ค่าเงินบาท-เงินเฟ้อ-เศรษฐกิจโลก

ธปท.ยันเกาะติดสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนใกล้ มองผลกระทบผ่าน 3 ช่องทาง “ตลาดการเงิน-อัตราเงินเฟ้อ-เศรษฐกิจโลกชะลอ” ลั่น มาตรการคว่ำบาตรตัดระบบชำระเงิน Swift ไม่มีผลกระทบระบบชำระเงินในไทย

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์ร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สำหรับประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ล่าสุดกลุ่มชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรในการตัดรัสเซียออกจากระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ (Swift) นั้น ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากต้องรอดูความชัดเจนถึงมาตรการคว่ำบาตรว่าจะยืดเยื้อและรุนแรงขนาดไหน ซึ่งอาจะมีผลกระทบระยะสั้น

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาผลกระทบต่อไทย จะผ่าน 3 ช่องทางด้วยกัน คือ 1.ความผันผวนของตลาดการเงิน ซึ่งหากดูเสถียรภาพต่างประเทศของไทยถือว่าค่อนข้างดี ซึ่งอาจจะเห็นผลกระทบบ้าง โดยจะเห็นค่าเงินบาทที่ผันผวนขึ้น

2.อัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากรัสเซียผลิตสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อส่งออก ซึ่งไทยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันค่อนข้างสูง อาจมีผลต่อเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น ส่วนจะเร่งสูงไปอยู่ที่เท่าไรนั้น จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ลากยาวและยืดเยื้อขนาดไหน ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อใหม่

ซึ่งจากเดิมคาดการณ์ว่าจะเร่งตัวสูงในช่วงครึ่งปีแรก และทยอยปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ภายหลังจากสถานการณ์รัสเซีย คณะกรรมการจะมีการประเมินภายใต้สมุมติฐาน (scenario) ตามระยะเวลาของสถานการณ์ เช่น เหตุการณ์ยืดเยื้อไปเรื่อย ๆ หรือ สามารถเจรจาและหารือร่วมกันได้ และสามารถจบได้เร็ว เป็นต้น ซึ่งภายใต้ scenario จะมีผลต่อราคาน้ำมัน และการคาดการณ์ของอัตราเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงไป

และ 3.ผลต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ซึ่งอาจมีผลต่อการค้าและการลงทุน อย่างไรก็ดี หากดูสัดส่วนการค้าและการลงทุนของไทยในรัสเซียมีสัดส่วนไม่เยอะมาก

นางสาวชญาวดี กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีรัสเซียถูกตัดออกจากระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ (Swift) นั้น มองว่า ในแง่ระบบการชำระเงินภายในประเทศของไทยไม่มีปัญหา แต่ระบบการชำระเงินของโลก อาจจะต้องดูทิศทางว่าชาติตะวันตกจะดำเนินการแบบไหน เช่น จะตัดระบบกี่ธนาคาร หรือจะหยุดกิจกรรมอะไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ ธปท.ต้องติดตามมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ดี หากมีการดำเนินการคว่ำบาตรผ่านมาตรการต่าง ๆ และระบบการชำระเงินของรัสเซียมีปัญหา เชื่อว่าแต่ละประเทศมีแผนฉุกเฉินรองรับอยู่แล้ว แต่การคว่ำบาตรรัสเซียไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ประกอบกับแม้ว่ารัสเซียจะถูกตัดออกจากระบบ Swift แต่จะเห็นว่ารัสเซียยังคงมีระบบการชำระเงินแบบอื่นรองรับ เพียงแต่ระบบการชำระอื่น อาจจะไม่สะดวกรวดเร็วเทียบเท่ากับ Swift ซึ่งอาจจะเพิ่มภาระต้นทุน และประสิทธิภาพของธุรกรรมลดลง

“เราต้องมอนิเตอร์ต่อว่าแนวทางการคว่ำบาตรจะไปในทิศทางไหนต่อ จะมีการยกเว้นกิจกรรมใด ซึ่งเราไม่มองเฉพาะแค่ระบบการชำระเงิน แต่เราต้องมองภาพรวมทั้งตลาดการเงินตลาดทุน อย่างไรก็ดี เราก็ให้ธนาคารติดต่อลูกค้าอย่างใกล้ชิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ภาคธุรกิจไทยเชื่อว่าคนที่ลงทุนในรัสเซียเองน่าจะมีแนวทางบริหารจัดการอยู่แล้ว และรัสเซียเองเขาน่าจะมีแผนแบล็กอัพด้วยเช่นกัน”