“รูดปรื๊ด” ลุ้นโตเท่าก่อนโควิด KTC พุ่งเป้าตลาดบน “อิออน” รุกออนไลน์

บัตรเครดิต

ธุรกิจบัตรเครดิตตีปีกรับกำลังซื้อฟื้น ประธานชมรมมั่นใจยอดใช้จ่ายปี’65 ภาพรวมโต 10% จับตาปัจจัยเสี่ยง “ล็อกดาวน์โควิด” รวมถึงความขัดแย้ง “รัสเซีย-ยูเครน” กระทบภาคท่องเที่ยว “เคทีซี” ปักธงยอดใช้จ่ายผ่านบัตรกลับไปเทียบเท่าก่อนโควิด เผยปีนี้เจาะลูกค้ากลุ่มบนรายได้เกิน 5 หมื่นบาท ปั๊มสเปนดิ้ง จ่อคลอดบัตรโคแบรนด์ใหม่เดือน มี.ค.นี้ ฟาก “อิออน” เล็งขยายพันธมิตรอีคอมเมิร์ซ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดรูดปรื๊ดผ่านออนไลน์เป็น 30%

นายอธิศ รุจิรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด (GCS) ในฐานะประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเมินทิศทางธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2565 ช่วงครึ่งแรกน่าจะขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่มีโควิด-19 ระบาดระลอก 2-3

โดยแม้ว่าตอนนี้มีการระบาดสายพันธุ์โอมิครอน แต่ไม่น่าจะถึงขั้นต้องมีมาตรการล็อกดาวน์อีก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งน่าจะดีต่อยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร (spending) ซึ่งอัตราการเติบโตของธุรกิจบัตรเครดิตในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 8-10%

“คาดว่าช่วงไตรมาส 1 นี้บัตรเครดิตทั้งระบบน่าจะเติบโต 5-10% จาก 2 ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อของภาครัฐผ่านโครงการ ช้อปดีมีคืน และเราเที่ยวด้วยกัน รวมถึงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ภายหลังภาครัฐคลายล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาส 4 ปีก่อน จากนั้นเราก็เห็นการฟื้นตัวในตลาดเป็นสัญญาณบวกมากขึ้น แม้ว่าปีนี้จะมีเรื่องของโอมิครอนเข้ามา แต่ประชาชนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนแล้ว ทำให้ความรุนแรงจึงน่าจะน้อยกว่าโควิดระลอกก่อน ๆ จึงคิดว่าไม่น่าจะมีล็อกดาวน์อีก ดังนั้น การใช้จ่ายโต 8-10% น่าจะทำได้”

นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจบัตรเครดิต บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) กล่าวว่า แนวโน้มยอดใช้จ่ายผ่านบัตรของเคทีซีในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 10% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มียอดใช้จ่ายอยู่ที่ 5.32 หมื่นล้านบาท โดยทิศทางการใช้จ่ายน่าจะดีขึ้น ดูจากสัญญาณในเดือน ม.ค.-ก.พ.ที่ขยายตัวได้ประมาณ 10-15% อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงปัญหารัสเซียและยูเครนที่ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งอาจจะกระทบภาคการท่องเที่ยวได้

“ภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตของเคทีซีในปีนี้จะมีอัตราการเติบโตกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 โดยเราตั้งเป้าเติบโตที่ 10% ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรที่ 2.14 แสนล้านบาท และยอดบัตรใหม่ 2.5 แสนใบ จากปี 2564 มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 1.95 แสนล้านบาท โดยหมวดใช้จ่ายที่น่าจะเติบโตได้ดี 3 อันดับแรก คือ ประกัน, น้ำมัน และ ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ต”

สำหรับกลยุทธ์ในปีนี้เคทีซีจะเน้นขยายฐานลูกค้ากลุ่มระดับบนเพิ่มขึ้น โดยโฟกัสกลุ่มผู้มีรายได้ตั้งแต่ 5 หมื่นบาทต่อเดือน จากเดิมที่เน้นกลุ่ม 3 หมื่นบาทต่อเดือน เนื่องจากการขยายฐานกลุ่มระดับบนจะเพิ่มทั้งในแง่ฐานลูกค้าใหม่ และจะเป็นการกระตุ้นฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ให้ใช้จ่ายมากขึ้นผ่านแคมเปญการตลาดที่จูงใจ ซึ่งปัจจุบันจากยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเฉลี่ยของลูกค้าเคทีซีจะอยู่ที่ 7,500 บาทต่อคน โดยกลุ่มระดับบนจะมียอดใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 2 เท่า หรือประมาณ 2.5 หมื่นบาทต่อคน

“ตอนนี้เคทีซีมีฐานลูกค้ากลุ่มระดับบนประมาณ 25% ของพอร์ตลูกค้าทั้งหมด ทั้งนี้ จะเห็นว่าสัญญาณการอนุมัติสินเชื่อปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดประเทศ ลูกค้ากลับมามีรายได้และสถานะทางการเงินดีขึ้น ทำให้สัดส่วนการอนุมัติบัตรเฉลี่ยอยู่ที่ 37% จากเดิมอยู่ที่ 34-35%”

“โดยเราเห็นสัญญาณคนที่มีรายได้ มีความมั่นใจที่จะใช้จ่ายมากขึ้น แต่คนที่รายได้น้อยอาจจะชะลอการใช้จ่ายไปบ้าง แต่ภาพรวมเราคาดว่าการเติบโตทั้งปีจะกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด แต่ก็ต้องยอมรับว่าปีนี้ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ เราก็ปรับแผนการตลาดและการเติบโตตลอด ซึ่งภายในเดือน มี.ค.นี้เคทีซีมีแผนเปิดบัตรร่วมพันธมิตร (cobrand) ใหม่ รวมถึงเตรียมวงเงินการตลาดทั้งปีไว้กว่า 1,000 ล้านบาท”

นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) กล่าวว่า กลยุทธ์ของอิออนในปีนี้จะมุ่งเน้นขยายการหาลูกค้าใหม่บนออนไลน์แพลตฟอร์ม และตั้งเป้าขยับสัดส่วนยอดใช้จ่ายมาจากช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 20% ซึ่งการเติบโตจะมาจากการขยายพันธมิตรแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าและบริการผ่านออนไลน์ (e-Commerce) มากขึ้น ภายหลังจากได้ร่วมมือกับช้อปปี้และลาซาด้าไปก่อนหน้านี้

ขณะที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายยังคงเป็นกลุ่มฐานลูกค้าที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง หรือมีรายได้ตั้งแต่ 8,000-3 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักและแข็งแรงของอิออน ปัจจุบันมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของฐานลูกค้าทั้งหมดที่มียอดใช้จ่ายสม่ำเสมอ (active) อยู่กว่า 2 ล้านราย โดยมียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 2-3 หมื่นบาทต่อบัตรต่อคน

“แผนธุรกิจปี 2565 อยู่ระหว่างเสนอบอร์ดพิจารณา เพราะเราเพิ่งปิดปี 2564 ไป เบื้องต้นเราคาดว่าการเติบโตน่าจะทำได้ดีกว่าปี 2564” นายนันทวัฒน์กล่าว