ยื่นภาษี 2565 วันสุดท้าย ! เช็กขั้นตอนหากยื่นไม่ทันทำอย่างไร

ยื่นภาษี 2565

กรมสรรพากร เปิดยื่นภาษีเงินได้ ประจำปี 2565 แบบกระดาษ วันสุดท้าย เช็กขั้นตอนหากยื่นไม่ทันทำอย่างไร 

วันที่ 30 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เข้าสู่วันสุดท้ายสำหรับประชาชนผู้มีรายได้จะต้องทำการยื่นแบบภาษีเพื่อแสดงรายได้ ประจำปี 2565 โดยเป็นรูปแบบการยื่นแบบกระดาษ ส่วนผู้ที่ยังไม่สะดวกไปยื่นภาษีแบบกระดาษ สามารถยื่นผ่านระบบออนไลน์ ได้จนถึงวันที่ 8 เมษายน 2565

ทั้งนี้ ผู้ที่ไม่ได้ยื่นแบบหรือยื่นไม่ทันเวลาที่กำหนด ทางกรมสรรพากรได้กำหนดบทลงโทษ และจะต้องชำระภาษีย้อนหลัง โดยมีรายละเอียดดังนี้

ยื่นภาษีไม่ทันทำอย่างไร

บุคคลธรรมดาที่มีหน้าที่ในการยื่นแบบภาษีเงินได้ แต่ยื่นไม่ทันเวลาที่กำหนด ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี จะต้องไปยื่นด้วยตนเองอีกครั้งที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา โดยจะต้องเตรียมเอกสารประกอบไปด้วย ดังนี้

  • แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.91 หรือ ภ.ง.ด.90
  • หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
  • เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษี เช่น หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต หนังสือรับรองการจ่ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ
  • เอกสารยืนยันสิทธิค่าลดหย่อนบิดามารดา (ใบ ล.ย. 03)

นอกจากเตรียมเอกสารเพื่อยื่นภาษีแล้ว จะต้องเตรียมเงินเพื่อชำระเงินภาษี และเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามกฎหมายสรรพากร ดังนี้

บุคคลธรรมดาที่ไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91

  • ต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้

ทั้งนี้ หากไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเพียงค่าปรับอย่างเดียว

สำหรับผู้ที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติมภายหลังกำหนดเวลาการยื่นแบบ มีเงื่อนไขการชำระเงินและเสียค่าปรับดังนี้

  • กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ
  • กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและค่าปรับ

ขั้นตอนยื่น ภ.ง.ด.90/91

สำหรับใครยื่นแบบกระดาษไม่ทัน สามารถศึกษาขั้นตอนการยื่นแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร รวมถึงเอกสารและข้อมูลที่ต้องเตรียมพร้อมในการยื่นภาษี เพราะหากข้อมูลไม่ถูกต้อง ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขและอาจเสียค่าธรรมเนียมและค่าปรับ

1.เข้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ที่ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/ จากนั้น คลิก “ยื่นแบบออนไลน์”

ระบบ e-filing ยื่นภาษีออนไลน์

สำหรับใครที่เพิ่งยื่นภาษีครั้งแรก ให้คลิก “สมัครสมาชิก” ก่อน ซึ่งไม่ใช่ขั้นตอนที่ยุ่งยาก เพียงกรอกรายละเอียดตามบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์มือถือ และตั้งรหัสผ่าน

ลงทะเบียน ยื่นภาษี ระบุ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี

2. กรอกข้อมูล “เลขประจำตัวประชาชน” ที่ช่องเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรหรือชื่อผู้ใช้งาน และ “รหัสผ่าน” ที่เคยตั้งไว้ จากนั้นคลิก “เข้าสู่ระบบ” แต่ถ้าใครลืมรหัสผ่าน เพียงคลิกที่ “ลืมรหัสผ่าน” ใช้เวลากู้เพียงครู่เดียวเท่านั้น โดยทางระบบจะส่งรหัส OTP มาให้ ผ่านโทรศัพท์มือถือ

วิธีเข้าสู่ระบบยื่นภาษีออนไลน์ 2565

3. กรมสรรพากรเพิ่มขั้นตอนการยืนยันตัวตนด้วย OTP โดยจะมีการส่งรหัสมาทางโทรศัพท์มือถือที่เคยลงทะเบียนไว้ แต่หากปัจจุบันผู้ยื่นภาษีเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์มือถือแล้ว สามารถระบุเบอร์โทรศัพท์ใหม่ได้เลย ไม่ต้องดำเนินการเปลี่ยนกับทางสรรพากร

ขั้นตอนยื่นภาษี รับรหัส OTP ผ่านมือถือ

4.จากนั้นระบบจะแสดงหน้าจอผู้มีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้คลิกที่ “ยื่นแบบ” ช่อง ภ.ง.ด.90/91 ซึ่งเป็นแบบภาษีเงินได้ประจำปี

วิธียื่นภาษีออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร

5.เป็นขั้นตอนการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90/91 ซึ่งมีทั้งหมด 5 ขั้นตอน ดังนี้

  1. กรอกข้อมูลผู้เสียภาษี
  2. กรอกเงินได้
  3. กรอกค่าลดหย่อน
  4. ตรวจสอบข้อมูล
  5. ยืนยันข้อมูล

ขั้นตอนยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา ภงด.90/91

6.กรอกข้อมูลผู้เสียภาษี โดยระบบจะแสดงข้อมูลของผู้เสียภาษี ได้แก่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขบัตรประชาชน), ชื่อ-นามสกุล, วันเดือนปีเกิด, สถานที่ติดต่อ (สถานที่ตามบัตรประชาชน), ร้านค้า/กิจการส่วนตัว (ถ้ามี) และให้ระบุสถานะในปัจจุบัน ได้แก่ โสด หม้าย หรือสมรส ซึ่งกรณีที่สมรสแล้วจะมีให้เลือกว่า อยู่ร่วมกันตลอดปี ระหว่างปี หย่า หรือคู่สมรสเสียชีวิตระหว่างปี 2564

หากกรณีที่ผู้มีเงินได้เสียชีวิตระหว่างปี 2564 และญาติเป็นผู้ยื่นแทน จะปรากฏสถานะให้เลือกด้วย

เมื่อเลือกเรียบร้อยแล้ว คลิก “ถัดไป”

แบบแสดงภาษีเงินได้ ปีภาษี 2564

7. เริ่มขั้นตอนกรอกเงินได้จากแหล่งต่าง ๆ อาทิ เงินเดือน, รายได้จากฟรีแลนซ์-รับจ้างทั่วไป-วิชาชีพอิสระ, รายได้จากทรัพย์สิน-การทำธุรกิจ, รายได้จากการลงทุน และ รายได้จากมรดกหรือได้รับมา

วิธีกรอกรายได้ ยื่นภาษีออนไลน์

สำหรับขั้นตอนนี้ หากเป็นพนักงานประจำหรือมนุษย์เงินเดือน ให้เลือกรายได้จากเงินเดือน คลิกที่ “ระบุข้อมูล” จากนั้นระบบจะให้กรอกข้อมูลดังนี้

  • รายได้ทั้งหมด ให้รวมรายได้จากทุกนายจ้าง จากทุกบริษัทที่เข้าทำงานตลอดปี 2564 แล้วกรอกเลขเดียว
  • ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้รวมภาษีที่นายจ้างแต่ละที่หัก แล้วกรอกเลขเดียว
  • เลขผู้จ่ายเงินได้ คือเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของนายจ้าง หากรับเงินจากหลายนายจ้าง ให้กรอกเลขของนายจ้างที่จ่ายให้เรามากที่สุด
  • เมื่อกรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้ว คลิก “บันทึก”

ทั้งนี้ หากมีรายได้อื่น ๆ ให้กรอกไล่ไปทีละข้อ โดยควรคำนวณตัวเลขให้พร้อม ก่อนเริ่มยื่นภาษีออนไลน์

บันทึกรายการเงินเดือน

เมื่อบันทึกรายได้แต่ละข้อเสร็จ ระบบของกรมสรรพากรจะพากลับไปที่หน้ารายได้เหมือนเดิม ขั้นตอนนี้แนะนำให้ตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่

8.กรอกค่าลดหย่อนภาษี ซึ่งค่าลดหย่อนภาษีของปี 2564 แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว

  • ลดหย่อนผู้มีเงินได้ 60,000 บาท
  • ลดหย่อนบุตร
  • อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
  • เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา
  • อุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ

ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว

กลุ่มที่ 2 ค่าลดหย่อน/ยกเว้น ด้านการออมและการลงทุน

ข้อแนะนำคือ

  1. สามารถกรอกค่าลดหย่อนที่ได้จ่ายตามจริงได้เลย โดยระบบจะคำนวณสิทธิลดหย่อนให้สูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดอัตโนมัติ
  2. กรณีค่าลดหย่อน/ยกเว้น ที่ใช้สิทธิลดหย่อนรวมกัน เช่น กลุ่มการออมและการลงทุนรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท หากไม่ต้องการให้ระบบคำนวณอัตโนมัติ คุณต้องคำนวณค่าลดหย่อน/ยกเว้นแต่ละประเภทโดยไม่เกินสิทธิ และกรอกตัวเลขเอง
  • เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • เงินสะสมกองทุนบำเหน็จบำนาญ (กบข.)
  • เงินสะสมกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
  • เงินค่าชดเชยที่ได้รับตามกฎหมายแรงงาน (กรณีนำมารวมคำนวณภาษี)
  • เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
  • เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
  • เบี้ยประกันชีวิต
  • เบี้ยประกันสุขภาพ
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
  • ค่าซื้อหน่วยลงทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
  • ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม SSF
  • เงินลงทุนในหุ้น หรือการเป็นหุ้นส่วนเพื่อจัดตั้ง หรือเพิ่มทุนบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคม และได้จดแจ้งการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม

ลดหย่อยภาษีจากการลงทุน จ่ายภาษีออนไลน์

กลุ่มที่ 3 ค่าลดหย่อน/ยกเว้น จากสินทรัพย์และมาตรการนโยบายภาครัฐ

  • ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย
  • เงินบริจาคพรรคการเมือง
  • ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร

ค่าลดหย่อนตามมาตรการรัฐ

กลุ่มที่ 4 เงินบริจาค

  • เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา/สถานพยาบาล/สภากาชาดไทย/อื่น ๆ
  • เงินบริจาค

เงินบริจาค ลดหย่อนภาษี

ระบบจะดำเนินการคำนวณค่าใช้จ่าย และลดหย่อนภาษี ออกมาเป็น “เงินได้สุทธิ” ซึ่งจะถูกนำไปคำนวณภาษี อย่างไรก็ตาม ตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2564 เงินได้สุทธิ 1-150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี หรือ ไม่เสียภาษี นั่นเอง และหากระบบระบุว่า “ยอดภาษีสุทธิเกิน ชำระไว้เกิน” ผู้ยื่นภาษีสามารถขอคืนได้

หน้าตรวจสอบข้อมูล หลังกรอกข้อมูล

9. ขั้นตอนตรวจสอบข้อมูล โดยระบบจะสรุปข้อมูลเงินได้หักลบด้วยรายการลดหย่อนภาษีทั้งหมด “เพื่อคำนวณภาษีที่ต้องชำระ” ซึ่งผู้ยื่นภาษีสามารถคลิก “ดูวิธีการคำนวณ” ได้ เพื่อตรวจสอบที่มาของตัวเลขดังกล่าวและเพื่อตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง

ตรวจสอบวิธีคำนวณภาษีที่ต้องชำระ

  1. ยืนยันข้อมูล เป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากกรอกข้อมูลยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90/91 เรียบร้อยแล้ว ผู้ยื่นภาษีสามารถเลือกพิมพ์แบบ บันทึกร่าง หรือ กดยืนยันเพื่อส่งแบบยื่นภาษี 2564 ได้ทันที ทั้งนี้ หากต้องการขอคืนภาษีเนื่องจากชำระภาษีเกิน ให้เลือกช่องทางโอนเข้าพร้อมเพย์ หรือตามวิธีที่กรมสรรพากรประกาศในแต่ละปีได้เลย