กอบศักดิ์ทำนายยุคดอกเบี้ยแพงหวนกลับ หวั่นเงินเฟ้อค้างนาน บีบเฟดใช้ยาแรง

เงินบาท

“กอบศักดิ์” ชี้ยุคดอกเบี้ยแพงกำลังมาเยือน ประเมินเงินเฟ้อสหรัฐลดลงครั้งแรกรอบ 8 เดือนยังวางใจไม่ได้ เหตุ “โรคของแพง-เงินเฟ้อพุ่ง” กำลังแทรกซึมสู่รายการใช้จ่ายปกติในชีวิตประจำวันของทุกคน หวั่นเงินเฟ้อค้างนาน เป็นแรงกดดันเฟดต้องใช้ “ยาแรง” สกัด

วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊กแฟนเพจ “Dr.KOB” ระบุว่า ยุคดอกเบี้ยแพงกำลังมาเยือน
โดยมีคนถามว่า “เราควรดีใจที่เงินเฟ้อสหรัฐลดลงครั้งแรกในรอบ 8 เดือนหรือไม่” ซึ่งคำตอบคือ “ดีขึ้นบ้าง แต่ยังมีประเด็นที่น่ากังวลใจ” โดยที่ “ดีขึ้นบ้าง” ก็เพราะปกติแล้วตลาดจะดูตัวเลขที่ประกาศออกมาเร็ว ๆ นี้จาก Headline Number ที่ปรากฏ

ทั้งนี้ การที่ตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มลง ทุกคนก็สบายใจขึ้น เพราะถ้าทะลุขึ้นไป 9%, 10% ตลาดคงหนักใจมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญยิ่งไปกว่า Headline Number (ตัวเลขตัวรวมที่ประกาศ) ก็คือ องค์ประกอบข้างในที่เราต้องเข้าไปวิเคราะห์ดูเพิ่มเติมว่าทั้งหมดหมายความว่าอะไร

ซึ่งจากที่ดูเร็ว ๆ นี้ที่น่าพอจะสบายใจได้ก็คือ เงินเฟ้อสหรัฐ (เทียบกับปีที่แล้ว) ไม่พุ่งต่อจาก 8.5% เหลือ 8.3%, เงินเฟ้อพื้นฐาน (หักพลังงาน/อาหารออก) จาก 6.5% เหลือ 6.2%, เงินเฟ้อสหรัฐ (เทียบกับเดือนก่อน) ลงมามากจาก 1.2% เหลือ 0.3% ที่ดีขึ้นมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาน้ำมันโลกที่จะเห็นว่า หมวดพลังงานที่เคยพุ่งขึ้น 18.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าในเดือนมีนาคมได้ลดลง 5.4% ในเดือนล่าสุด (ตามการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันโลกที่ขึ้นไป Peak ที่เดือนมีนาคม)

“พูดง่าย ๆ ที่เงินเฟ้อไม่พุ่งขึ้นต่อรอบนี้มาจากราคาน้ำมันไม่ไปต่อค้างอยู่ที่ 100-110 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนที่ต้องหนักใจก็คือ เงินเฟ้อพื้นฐาน (เทียบกับเดือนก่อน) เพิ่มสูงขึ้นจาก 0.3% เป็น 0.6% ที่น่าหนักใจก็เพราะ เงินเฟ้อพื้นฐาน หรือ Core Inflation คือหมวดเงินเฟ้อที่เราสกัดเอาหมวดที่ขึ้น-ลงกับ Supply Shock ที่เป็นราคาน้ำมันราคาอาหารออกไปแล้ว”

ดร.กอบศักดิ์ระบุอีกว่า ปกติเงินเฟ้อพื้นฐานจะบอกได้ดีว่าอาการป่วยเรื่องราคาข้าวของแพงกำลังเป็นอย่างไร เพราะในหลาย ๆ รอบเงินเฟ้อจะเริ่มจากน้ำมันแพง ค่าขนส่งแพง ข้าวของแพง เงินเดือนขึ้น แล้วเงินเฟ้อก็จะเริ่มฝังรากลงไปในระบบ

ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่กำลังจับตาดูตัวเลขนี้อย่างใกล้ชิด เมื่อเห็นเช่นนี้ก็คงต้องบอกตัวเองว่า “ยังไว้ใจไม่ได้” เพราะตัวเลขในตารางที่หมวด Services หรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของคน ซึ่งมีขนาดเกินครึ่งของการใช้จ่ายแต่ละเดือน หรือ 57% ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเดือนธันวาคม 2564 เพิ่มขึ้น 0.3%, มกราคม 2565 เพิ่มขึ้น 0.4%, กุมภาพันธ์ 2565 เพิ่มขึ้น 0.5%, มีนาคม 2565 เพิ่มขึ้น 0.6% และเมษายน 2565 เพิ่มขึ้น 0.7%

“การเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นนี้ไม่ใช่สัญญาณที่ดี เพราะหมายความว่า โรคของแพง เงินเฟ้อพุ่ง กำลังแทรกซึมไปที่ รายการใช้จ่ายปกติ ในชีวิตประจำวัน ของทุกคน มากขึ้นเรื่อย ๆ หากเป็นเช่นนี้ สิ่งที่เฟดคาดหวัง คือ เงินเฟ้อจะลดกลับลงมาเอง ลงมาที่ 2% จะเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น เงินเฟ้อ (โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐาน) อาจค้างได้ที่ 3% เป็นระยะเวลาหนึ่ง

ซึ่งจะทำให้เฟดต้องออกแรง โดยการขึ้นดอกเบี้ยไปสูงกว่า Neutral Rate Zone (2-3%) สูงกว่าพอควรและคงไว้ระดับนั้นนานพอสมควร เหมือนกับเวลาเราป่วยติดเชื้อ คุณหมอจะต้องจ่ายยาฆ่าเชื้อ ยิ่งถ้าเชื้อกระจายในร่างกายมาก ก็ยิ่งต้องให้ยาแรง และแช่ยาไว้นาน เพื่อกำจัดเชื้อให้หมดไป เชื้อเงินเฟ้อ และคุณหมอเฟดก็คงเช่นกัน”

ดร.กอบศักดิ์ระบุทิ้งท้ายว่า ทั้งหมดนี้หมายความว่า ตัวเลขที่ออกมานี้ยังดีใจไม่ได้ และชี้ต่อไปว่าสำหรับระบบการเงินโลกในช่วงต่อไป ยุคดอกเบี้ยแพงกำลังจะมาเยือน