YLG แนะจับตา 4 ปัจจัยชี้ชะตาทองคำครึ่งปีหลัง

ราคาทองคำ YLG

YLG มองระยะสั้นทองคำผันผวนมีโอกาสปรับตัวลง จับตา 4 ปัจจัย “เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย-นโยบายเฟด-ความต้องการทองคำของธนาคารกลางทั่วโลก” ส่งผลต่อราคาทองคำครึ่งปีหลัง แนะถือทองคำ 5-10% ของพอร์ต ช่วงขาลงชี้เป็นจังหวะซื้อสะสม

วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) กล่าวว่า ภาพใหญ่ของราคาทองคำในปีนี้ยังคงเป็นภาพของการปรับตัวขึ้นแม้ระยะสั้นราคาทองคำจะมีการปรับตัวลงมา โดยในช่วงต้นปีราคาทองคำปรับตัวขึ้นไปที่บริเวณ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์

และหลังจากที่มีสถานการณ์รัสเซียกับยูเครนเข้ามาก็หนุนราคาทองคำให้ปรับขึ้นไปสูงถึง 2,069 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วงเดือนมีนาคม ถือว่าปรับขึ้นไปถึง 13 เหรียญ แต่ก็ยังไม่ผ่านจุดสูงสุดของปี 2564 ที่ 2,070 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ทองคำจะเริ่มถูกทยอยเทขายและปรับตัวลงอยู่แถวบริเวณ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์เท่ากับในช่วงต้นปี จากความกังวลในการใช้นโยบายของทางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ฐิภา นววัฒนทรัพย์
ฐิภา นววัฒนทรัพย์

ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนทองคำยังต้องจับตาดู ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อการปรับตัวขึ้นลงของราคาทองคำในช่วงที่เหลือของปีนี้ มี 4 ปัจจัย ได้แก่

1.สถานการณ์เงินเฟ้อ เป็นอีกสถานการณ์ที่หนุนราคาทองคำ จะเห็นได้จากตั้งแต่ในช่วงต้นปีที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้นักลงทุนหันเข้ามาซื้อและเข้ามาสะสมทองคำมากขึ้น และจากอดีตจะเห็นว่าทองคำจะทำผลงานได้ดีในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อสูง

2.การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งต้องติดตามว่าหลังจากนี้ หากเฟดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากขึ้นก็จะยิ่งกดดันราคาทองคำ เนื่องจากการลงทุนในทองคำจะไม่ได้เรื่องของดอกเบี้ย ก็อาจจะส่งผลให้นักลงทุนขายทองคำและไปถือสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนดีขึ้น

3.การเปลี่ยนผ่านจากการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือการอัดฉีดเงินเข้าระบบ (QE) ไปเป็นการดึงสภาพคล่องออกจากระบบ (QT) ของเฟด เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูง ซึ่งก็จะเป็นนโยบายการเงินอีกตัวที่ส่งผลต่อการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ

4.ความต้องการถือทองคำของธนาคารกลางในหลายประเทศที่เพิ่มมากขึ้น จากความพยายามที่จะลดค่าเงินดอลลาร์ที่เคยถือในสัดส่วนที่มาก เพื่อเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ซึ่งทองคำก็เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่หลาย ๆ ธนาคารกลางมีความต้องการที่จะเข้ามาถือทองคำเพิ่มขึ้น เพื่อต้องการกระจายความเสี่ยง ซึ่งปัจจัยนี้มองว่าโดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีหลังจากนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะหนุนให้ทองคำปรับตัวขึ้น

สำหรับแนวโน้มการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในปี 2565 มองแนวรับสำคัญในปีนี้อยู่ที่บริเวณ 1,780 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากไม่หลุดบริเวณนี้เชื่อว่าทองคำมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้อีก ส่วนแนวรับสุดท้ายที่ทองคำไม่ควรหลุดอยู่บริเวณ 1,676-1,630 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือหากเทียบเป็นเงินบาทจะอยู่บริเวณ 27,300-26,550 บาทต่อบาททองคำ ขณะที่แนวต้านบนสุดที่มองไว้ปีนี้อยู่ที่ 2,075-2,069 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 33,850-33,750 บาทต่อบาททองคำ

“ระยะสั้นจะยังคงเห็นทองคำมีแนวโน้มขาลง โดยกลยุทธ์ในช่วงครึ่งปีหลังยังคงแนะนำให้มีทองคำในพอร์ตการลงทุนในสัดส่วน 5-10% ซึ่งหากทองคำปรับตัวลง มองเป็นจังหวะในการเข้าซื้อสะสมได้” นางสาวฐิภา กล่าว