ดอลลาร์ร่วง หลังผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลดลง

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์ร่วง หลังผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลดลง ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ส่งออก4 เดือนแรกปีนี้ขยายตัว 13.7% ขณะที่การนำเข้าโต 19.2% ส่งผลให้มียอดขาดดุลการค้า 2.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 34.16/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาพการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 23-27 พฤษภาคม 2565 ในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นหลังนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์กล่าวเมื่อวันศุกร์ (20/5) ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เผชิญกับภาวะถดถอยทั้งในปีนี้และในปีหน้า นอกเสียจากว่าจะมีผลกระทบที่ใหญ่หลวงเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐ

พร้อมระบุว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกในการประชุมครั้งต่อไปนั้นเป็นแผนการที่ดี โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

และในวันอังคารประธานาธิบดีโจ ไบเดน ส่งสัญญาณเตรียมยุติสงครามการค้ากับจีน โดยกล่าวว่า เขากำลังพิจารณาที่จะปรับลดภาษีสินค้านำเข้าจากจีนโดยมีเป้าหมายที่จะสกัดการพุ่งขึ้นของราคาสินค้า โดยนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าการยกเลิกมาตรการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจะช่วยบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐ โดยการผ่อนปรนหรือการยกเลิกมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าทั้งหมดอาจเป็นหนึ่งในทางเลือกเพียงไม่กี่ทางที่ทำเนียบขาวจำเป็นจะต้องทำเพื่อฉุดต้นทุนสินค้าทุกประเภทให้ลดลง หลังจากที่เงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี

อย่างไรก็ดี ในช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลง เนื่องจากนักลงทุนเทขายดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่าการที่จีนผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จะช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 3-4 พ.ค. โดยระบุว่า กรรมการเฟดมีความพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมเดือน มิ.ย. และเดือน ก.ค. เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากเงินเฟ้อ โดยคณะกรรมการเฟดเล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับนโยบายการเงินสู่ระดับที่ปกติ

ส่วนกรณีที่ว่าเฟดจะคุมเข้มนโยบายการเงินเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจ และความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ และในรายงานการประชุมยังระบุด้วยว่า กรรมการเฟดมีความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งมากพอที่จะเปิดทางให้เฟดสามารถใช้นโยบายการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

อย่างไรก็ตามค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าในคืนวันพฤหัสบดี (26/5) หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ในการประเมินตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เป็นครั้งที่สองนั้น จีดีพีสหรัฐหดตัวลง 1.5% ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบเป็นตัวเลขเต็มปี (annualized) โดยปรับเปลี่ยนจากเดิมที่เคยรายงานว่าหดตัวลงเพียง 1.4% ในไตรมาสแรก โดยก่อนหน้านั้นจีดีพีสหรัฐเพิ่งขยายตัว 6.9% ในไตรมาส 4/2021 โดยจีดีพีสหรัฐในไตรมาสแรกได้รับแรงกดดันจากยอดขาดดุลการค้าที่สูงเป็นประวัติการณ์ และจากการปรับเพิ่มสต๊อกสินค้าคงคลังที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2021

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ในช่วงต้นสัปดาห์ในช่วงต้นสัปดาห์เปิดตลาดวันจันทร์ (23/5) ที่ระดับ 34.30/33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าโดยเคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดโลกหลังดอลลาร์อ่อนค่าเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลดลง ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐออกมาแบบผสมผสาน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์เผยการส่งออกในเดือน เม.ย. มีมูลค่า 2.35 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำกว่าคาดการณ์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 14.60% ส่วนการนำเข้าในเดือน เม.ย. มีมูลค่า 2.54 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 21.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าที่คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 16.40% โดยในเดือน เม.ย.มียอดขาดดุลการค้า 1.91 พันล้านดอลลาร์ตามคาดการณ์ โดยในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ การส่งออกขยายตัว 13.7% ขณะที่การนำเข้าเติบโต 19.2% ส่งผลให้มียอดขาดดุลการค้า 2.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าการส่งออกปี’65 ขยายตัว 4-5%

โดยกระทรวงพาณิชย์ ระบุในเอกสารเผยแพร่ว่า การส่งออกของไทยในเดือน เม.ย.มีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการผลิตทั่วโลกที่ยังขยายตัว รวมทั้งมีความต้องการสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้น จึงทำให้การส่งออกไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร อีกทั้งได้แรงหนุนจากเงินบาทที่อ่อนค่า แต่การส่งออกมีปัจจัยกดดันจากการสู้รบในยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ที่ส่งผลต่อการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานการผลิต รวมถึงผลักดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ

นอกจากนี้ ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากมาตรการล็อกดาวน์ในหลายเมือง ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก แนวโน้มการส่งออกไทย ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.07-34.35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (27/5) ที่ระดับ 34.16/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (23/5) ที่ระดับ 1.057/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/5) ที่ระดับ 1.0580/82 ดอลลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังนายอิกนาซิโอ วิสโก ผู้ว่าการธนาคารกลางอิตาลี กล่าวว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) สามารถเริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้กลับสู่แดนบวกได้อย่างเร็วที่สุดในเดือนกรกฎาคม

โดยนายวิสโกระบุว่า “ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์แตะที่ราว 2% และดูเหมือนว่าจะอยู่ที่ระดับนั้นต่อไป ดังนั้นเราจึงสามารถค่อย ๆ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า” พร้อมเสริมว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ แต่อาจมีการปรับขึ้นในเดือนกรกฎาคม

ด้านนางลาการ์ดกล่าวก่อนหน้านี้ว่า ECB มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะมีค่าเป็นบวกในช่วงสิ้นสุดไตรมาส 3 จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ -0.50% นอกจากนี้ นายฟรังซัวส์ วิลเลอรอย เดอ กาฮาว ผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศส กล่าวว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากที่ ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินในเดือน ก.ค. และ ก.ย.

ทั้งนี้ค่าเงินยูโรได้รับแรงกดดัน หลังเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซน ปรับตัวลงสู่ระดับ 54.9 ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 55.8 ในเดือน เม.ย. นอกจากนี้ ดัชนี PMI อยู่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 55.3 โดยถูกกดดันจากภาวะเงินเฟ้อซึ่งได้ฉุดกำลังซื้อของผู้บริโภค

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 54.4 ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 18 เดือน จากระดับ 55.5 ในเดือน เม.ย. ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 56.3 ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 57.7 ในเดือน เม.ย. โดยดัชนีมีอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคบริการของยูโรโซนยังคงมีการขยายตัว

และในวันพฤหัสบดี (26/5) GfK ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยตลาดของเยอรมนี เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีคาดการณ์ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเยอรมนีสำหรับเดือน มิ.ย. ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -26.0 สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเยอรมนีสำหรับเดือน มิ.ย. ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -26.0 สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ -26.6 ในเดือน พ.ค.

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงถูกกดดันจากเงินเฟ้อและการทำสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.0587-1.07644 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (27/5) ที่ระดับ 1.0753/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (23/5) ที่ระดับ 127.48/50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/5) ที่ระดับ 128.12/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่รวมราคาอาหารสดแต่รวมราคาพลังงานพุ่งขึ้น 1.9% ในเดือน พ.ค.จากเดือนเดียวกันในปีก่อน และใกล้เคียงกับตัวเลขคาดการณ์ของนักลงทุนที่ +2.0% ซึ่งเป็นการขยายตัวเร็วที่สุดในรอบ 7 ปี และสูงกว่าระดับเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กำหนดไว้ที่ 2% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากเงินเยนที่อ่อนค่า และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น ซึ่งหากสูงกว่าระดับเป้าหมายข้างต้นไปเรื่อย ๆ อาจกดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น ตัดสินใจลดการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายลงระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 126.54-127.82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ และปิดตลาดในวันศุกร์ (27/5) ที่ระดับ 126.96/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ