ESG กับการดำเนินธุรกิจ ในโลกยุคใหม่อย่างยั่งยืน

ESG
คอลัมน์ : Smart SME
ผู้เขียน : ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

แนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน” (sustainability development) โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (environment) สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการ (governance) หรือที่เรียกโดยย่อว่า ESG นั้น

เป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวางทั่วโลกในปัจจุบัน เนื่องจากการทำธุรกิจยุคใหม่การสามารถชนะใจผู้บริโภคนั้นต้องไม่มุ่งแต่การแสวงหากำไรเพื่อประโยชน์สูงสุดของธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องคำนึงถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาสังคม ในมิติด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านจรรยาบรรณธุรกิจ และการบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน

โดยแนวคิด ESG จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ ด้วยการสะท้อนบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสามารถพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อสามารถสร้างการแข่งขันในการทำธุรกิจสู่ตลาดสากลได้

ESG สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้อย่างไร

เมกะเทรนด์เพื่อโลกสีเขียว เป็นแนวโน้มสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทั่วโลกยอมรับ มาตรการการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี พ.ศ. 2593 ของทุกภาคส่วน มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนเพื่อชะลอวิกฤตทางด้านสิ่งแวดล้อมของโลก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มรักษ์โลกเพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

รวมถึงข้อมูลด้านความยั่งยืนขององค์กรที่ผู้บริโภคจะต้องรับรู้ การสร้างความเข้าใจเพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีตระหนักและเข้าใจว่าการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG จะช่วยเสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและสามารถนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับองค์กรได้อย่างไร ?

ประการแรก ต้องเข้าใจว่าการทำธุรกิจในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีต ผู้บริโภคได้ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันโดยใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น และยินดีที่จะจับจ่ายใช้สอยผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในราคาที่สูงกว่าสินค้าราคาปกติ ซึ่งเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีต้องมีการปรับตัวเพื่อรับกับเทรนด์ดังกล่าวนี้

ประการที่สอง ให้มองย้อนกลับมาที่ธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สินค้าที่ผลิตอยู่คืออะไร วัสดุทำจากอะไร ซื้อสินค้าจากใคร ขายสินค้าให้ใคร มีการขนส่งรูปแบบใด ขั้นตอนและกระบวนการผลิตสินค้าและการขาย การขนส่งสินค้าในห่วงโซ่อุปทานมีผลต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่เกี่ยวข้องอย่างไร และคู่ค้าทางธุรกิจให้ความใส่ใจในเรื่องของการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจหรือไม่อย่างไร หรือลองปรับโมเดลธุรกิจ หรือเปลี่ยนคู่ค้าที่มีส่วนร่วมในเรื่องกระบวนการสร้างความยั่งยืน ก่อนตัดสินใจลงทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนของธุรกิจ

ประการที่สาม การปฏิบัติต่อบุคลากรในองค์กรอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ซึ่งจัดอยู่ในปัจจัยด้านสังคม จะช่วยเพิ่มความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงาน ส่งผลให้คุณภาพของงานดีขึ้น ทำอย่างไรให้พนักงานในองค์กรมีความสุขและปลอดภัยในการทำงาน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรไปได้อย่างราบรื่นและต่อเนื่อง หากพนักงานสามารถทำให้ผู้บริโภคมีความพึงพอใจในสินค้าและทำให้ขายสินค้าได้เพิ่มขึ้นและนำมาซึ่งผลกำไรให้กับองค์กร หากมองถึงผลในระยะยาวหมายถึงสังคมโดยรวมก็จะถูกพัฒนาให้ดีขึ้นได้เช่นเดียวกัน

ประการที่สี่ การบริหารจัดการของเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิตซึ่งเป็นปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สามารถส่งผลต่อการลดต้นทุนการผลิต หากธุรกิจมีการวางแผน
การจัดการวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือการนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้เพื่อให้ของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตถูกนำกลับไปเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าใหม่ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนแล้วยังอาจสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่รวมถึงสร้างรายได้ใหม่ให้แก่ธุรกิจได้อีกด้วย

ประการที่ห้า การบริหารความเสี่ยง มีการจัดทำและเผยแพร่รายงานแห่งความยั่งยืน (sustainability report) ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่บ่งชี้ถึงโอกาสและความเสี่ยง รวมทั้งขีดความสามารถของธุรกิจที่มีต่อผลประกอบการในอนาคตของธุรกิจ หากธุรกิจต้องการเงินลงทุนเพื่อขยายธุรกิจจะส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนหรือเจ้าของเงินทุน ตัวอย่าง เช่น ธนาคารกรุงศรีฯมีการสนับสนุนสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan) เพื่อสนับสนุนธุรกิจหรือองค์กรที่สนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นสำคัญ

หากธุรกิจไม่ปรับตัวสู่แนวคิด ESG จะเกิดผลกระทบอย่างไร

มาตรการกีดกันทางการค้าต่อธุรกิจที่ไม่รับผิดชอบต่อมิติสิ่งแวดล้อมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง ผ่านมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น มาตรการปรับภาษีสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM)

ดังนั้น หากธุรกิจเอสเอ็มอีที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตขององค์กรธุรกิจใหญ่ก็จะได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ เพราะการคำนวณปริมาณการปล่อยคาร์บอนภายใต้มาตรการ CBAM จะคิดทั้งวงจรห่วงโซ่การผลิตสินค้านั้น ๆ จึงมีความจำเป็นที่เจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น มีการปรับตัว ปรับรูปแบบโมเดลธุรกิจ และกระบวนการทำงาน เพื่อให้สามารถรองรับกฎกติกาการค้าที่เปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจให้มากขึ้น

หากเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีท่านใดที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการด้าน ESG การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนสามารถทำได้ทุกองค์กร เพียงแต่ต้องเริ่มจากการประเมินธุรกิจของตนเองก่อน และถามว่าจะส่งมอบคุณค่าอะไรให้กับผู้บริโภคและสังคม เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นความได้เปรียบของธุรกิจ ใครที่เริ่มได้ก่อน คนนั้นคือผู้ได้เปรียบในอนาคต จนนำไปสู่การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจได้ในที่สุด