“ฟิทช์ฯ” จับตาดีลซื้อธุรกิจบรอดแบนด์ดันหนี้ AIS พุ่ง

AIS

ฟิทช์ ชี้แผนการเข้าซื้อกิจการธุรกิจบรอดแบนด์ของ AIS ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน-สร้างการเติบโต จับตาอัตราส่วนหนี้สินเพิ่มฉุด “ความสามารถรองรับหนี้สินเพิ่ม” ปรับตัวลดลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุถึงแผนการเข้าซื้อกิจการ บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB) ผู้ให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โดย บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) ว่า สอดคล้องกับเป้าหมายของ AIS เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตของกำไรอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่โตช้าลง

ซึ่งการเข้าซื้อกิจการจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบกับอันดับเครดิต (rating headroom) ของ AIS ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินของ AIS ที่อยู่ในระดับต่ำจะช่วยให้บริษัทสามารถรองรับการลงทุนในครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของรายได้และกำไรในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ดีลซื้อกิจการดังกล่าวมีมูลค่ารวม 3.24 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าธุรกรรมจะเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาส 1 ปี 2566 ซึ่งขึ้นอยู่กับการได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นและหน่วยงานกำกับดูแล

“การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ AIS ในการสร้างความแข็งแกร่งจากการให้บริการร่วมกันของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจบรอดแบนด์ ซึ่งส่งผลให้ AIS สามารถเพิ่มการกระจายตัวของรายได้จากการให้บริการ จากปัจจุบันที่ส่วนใหญ่มาจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปยังการให้บริการโทรคมนาคมอื่น ๆ ได้แก่ ทีวี อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง บริการไร้สาย และเพิ่มความแข็งแกร่งของสถานะทางธุรกิจของบริษัท ซึ่งฟิทช์ฯคาดว่าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 18% หลังจากการเข้าซื้อกิจการแล้วเสร็จจากปัจจุบันอยู่ที่ 6%”

โดยการเข้าซื้อกิจการ จะทำให้สถานะทางการตลาดของ AIS ปรับตัวดีขึ้น และกลายเป็นผู้ให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตรายใหญ่อันดับ 2 ในไทย มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มเป็น 35% จากปัจจุบันอยู่ที่ 15% ในไตรมาส 1 ของปี 2565 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับส่วนแบ่งทางการตลาดของผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุด ซึ่งได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 38%

“TTTBB จะช่วยให้ AIS เข้าถึงลูกค้าในตลาดภูมิภาค ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ AIS มีโครงข่ายให้บริการที่จำกัด และเพิ่มความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาดในเมืองใหญ่ที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว”

โดยฟิทช์ฯคาดว่าตลาดบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในไทยจะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากสัดส่วนการให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตต่อครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับปานกลางที่ 53% ในปี 2564 การแข่งขันในธุรกิจดังกล่าวมีความรุนแรงน้อยกว่าธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เข้าสู่ภาวะอิ่มตัว เนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะใช้การกู้ยืมเงินเป็นแหล่งเงินทุน จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิของ AIS เพิ่มขึ้นราว 0.4 เท่า โดยที่ยังไม่ได้พิจารณารวมกำไรจากสินทรัพย์ที่เข้าซื้อ ฟิทช์ฯคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (net debt/EBITDA) จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.4-1.5 เท่า แต่ยังต่ำกว่า 1.8 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์ฯอาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตถึงแม้ว่าความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบกับอันดับเครดิตจะปรับตัวลดลง