กอบศักดิ์ จับท่าทีเฟดลดดีกรียาแรง หลังปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามตลาดคาด

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
กอบศักดิ์ ภูตระกูล

ดร.กอบศักดิ์ ชี้สงครามระหว่างเฟดกับเงินเฟ้อเข้าสู่เฟส 2 หลังปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามตลาดคาด ระบุธนาคารกลางสหรัฐเปลี่ยนท่าทีจากแข็งกร้าวเป็นนุ่มนวล เชื่อ “ยาเริ่มออกฤทธิ์” ขณะที่เงินเฟ้อยังสูงอยู่ เตือนนักลงทุนอย่าเพิ่งตายใจ เหตุยังไม่ชัดเจนเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยถึงแค่ไหน

วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊ก “Dr.KOB” ระบุถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อคืนนี้ว่า 0.75% ตามนัด พร้อมขึ้นต่อครั้งถัดไป แต่ภาษาเริ่มเปลี่ยนเป็น soften (นุ่มนวล) โดยการใช้จ่ายและการผลิตเริ่มอ่อนลง พร้อมบอกว่า เงินเฟ้อยังคงสูงอยู่

นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์ชี้ว่า ขณะนี้ได้เข้าสู่ Phase 2 ของสงครามระหว่างเฟดกับเงินเฟ้อ โดยเมื่อคืนหลังประธานเฟดแถลง และถามตอบ ตลาดหุ้นต่าง ๆ ปรับตัวขึ้น ได้แก่ Dow Jones +500 จุด เพิ่มขึ้น 1.6%, Nasdaq +480 จุด เพิ่มขึ้น 4.1% ขณะที่ Bitcoin บวกเกือบ 2,000 ดอลลาร์

“ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะเฟดกำลังเข้าสู่ช่วงใหม่ของสงคราม ที่นักลงทุนเริ่มเห็นว่า (1) สูตรยาของเฟดเริ่ม ‘แรงพอ’ ไม่มี surprise ในสิ่งที่ท่านประธานเฟดพูด”

ถ้าจะว่าไปแล้ว คงนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เริ่มสงครามกับเงินเฟ้อมา ที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่าตลาด “เคยกลัว” จาก 2 สัปดาห์ที่แล้ว ที่ตลาดเคยคาดว่า เฟดคงจะต้องขึ้น 1% แต่หลังฟังคำพูดของกรรมการบางส่วน ตลาดก็ค่อย ๆ ปรับการคาดการณ์ว่า ครั้งนี้คงจะขึ้นประมาณ 0.75% พร้อมแอบกลัวนิด ๆ อยู่ลึก ๆ ว่าจะมีอะไรมาเกินที่คิด แต่สุดท้าย เฟดก็มาตามนัด

“เรื่องนี้มีนัย เพราะจากที่เฟดเคยมือหนัก ใส่ยาแรง กว่าที่เคยบอกไว้เสมอ บอก 0.25% ก็ขึ้น 0.5% บอก 0.5% ก็ขึ้น 0.75% ครั้งนี้ บอก 0.5-0.75% ก็ทำตามที่พูด 0.75% หมายความว่า สูตรยาที่เฟดจ่าย เริ่ม ‘แรงพอ’

ไม่มีแถม นอกจากนั้น ท่านประธานเฟดยังบอกระหว่างแถลงว่า 0.75% เป็นการขึ้นที่มาก และเป็นขนาดที่ไม่ปกติ ถ้าข้อมูลชี้ว่ายังจำเป็นอยู่ ครั้งหน้าคงขึ้น 0.75% อีกครั้ง แต่ 1.0% ไม่ค่อยได้พูดถึงกัน ทำให้ตลาดโล่งใจ ‘ว่าที่แย่ ๆ เฟดต้องมือหนัก ได้ผ่านไปแล้ว’ !!!!”

(2) “ยาเริ่มออกฤทธิ์” และความกังวลใจเริ่มเปลี่ยน ภาษาที่เฟดใช้เริ่มเปลี่ยน โดยในแถลงการณ์ล่าสุด เริ่มบอกว่า Spending and production has softened (การใช้จ่ายและการผลิตเริ่มอ่อนตัวลง !!!) Growth in consumer spending has slowed significantly (การใช้จ่ายของผู้บริโภคชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ) Activities in housing sector has weakened (ความคึกคักของภาคอสังหาฯเริ่มลดลง) Business fixed investment also looks to have declined in Q2 (การลงทุนของภาคธุรกิจก็หดตัวลง)

“คำพูดเหล่านี้ softened, slowed, weakened, declined ถ้าจะว่าไปแล้ว คงเป็นครั้งแรกรอบนี้ ที่เฟดเริ่มใช้ จากเดิมจะบอกว่า แข็งแรง ดีเกินคาด ดีที่สุดในรอบหลายสิบปี สะท้อนว่ายาเริ่มออกฤทธิ์ตามที่เฟดตั้งใจ ให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง และหมายความต่อไปว่าสูตรยา ‘น่าจะแรงพอ’ อย่างที่บอกไปข้างต้น”

นอกจากนี้ ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ระหว่างที่ฟังคำถามจากผู้สื่อข่าวมากกว่า 20 คนระดมถามกัน ก็คือ “ความกังวลใจของทุกคนเริ่มเปลี่ยน” จากช่วงก่อนหน้าเดิมกังวลใจว่า จะเอาเงินเฟ้อไม่อยู่ เงินเฟ้อกำลังพุ่ง และไม่รู้ว่าจะพุ่งไปถึงที่ไหน Fed is behind the curve ตอนนี้ นักข่าวเริ่มคิดว่า เงินเฟ้อน่าจะเริ่ม Peak และดีขึ้นในช่วงถัดไป เลยไม่เน้นถามเรื่องเงินเฟ้ออย่างเคย แต่กลับมากังวลใจเรื่องใหม่แทน ก็คือ Recession (เศรษฐกิจถดถอย)

โดยเริ่มมีคนถามว่า เราอยู่ใน Recession หรือยัง, จะวัดอย่างไร, ถ้าตัวเลข GDP Q2 ออกมาติดลบ จะถือว่า Recession หรือยัง, เฟดจะลดดอกเบี้ยเมื่อไหร่, เงื่อนไขอะไรที่จะทำให้เฟดลดดอกเบี้ย เรียกได้ว่าเป็น “หนังคนละม้วน” กับช่วงที่ก่อนหน้า จากที่มักจะถามว่า “จะใส่ยาแรงกว่าเดิมอีกไหม” ตอนนี้เริ่มกลายเป็น “จะลดยาเมื่อไหร่” ยอมรับกับความจริงว่า การต่อสู้ของเฟดกับเงินเฟ้อกำลังเข้าสู่ช่วง 2 และ Recession รออยู่ Soft landing คงเกิดยาก เพราะแม้แต่คนขายไอเดีย (ประธานเฟด) ก็ยังบอกว่า หนทางไปสู่จุดนั้น ดูยากขึ้นเรื่อย ๆ

“ท่านประธานเฟดบอกว่า We are highly attentive to inflation risks and determined to take the measures necessary to return inflation to our 2 percent longer-run goal. This process is likely to involve a period of below trend economic growth and some softening in labor market conditions, but such outcomes are likely necessary to restore price stability and to set the stage for achieving maximum employment and stable prices over the longer-run แปลง่าย ๆ ว่า ขอให้ทุกคนทำใจ เศรษฐกิจจะต้องตก ต้องแผ่วไปช่วงหนึ่ง (below trend) แต่เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหมายความต่อไปว่า คนจะต้องตกงาน บริษัทต้องปิด แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในระยะยาว ทั้งหมดนี้รวมแล้วหมายความว่า เราได้เข้าสู่ Phase 2 ของสงครามของเฟดกับเงินเฟ้อ”

ดร.กอบศักดิ์ระบุอีกว่า อย่างไรก็ตาม “นักลงทุนยังตายใจไม่ได้ เพราะสิ่งที่ประธานเฟดยังไม่ยอมบอก ยังตอบเลี่ยงไปมา ก็คือ ดอกเบี้ยสุดท้ายแล้ว จะต้องขึ้นไปสูงสุดแค่ไหน ต้องจ่ายยาอีกเท่าไร อีกกี่รอบจึงจะเอาอยู่ เรื่องนี้จะสำคัญต่อไป เพราะตลาดยังคิดว่า 3.5-3.8% น่าจะพอ แต่ท้ายที่สุดแล้ว อาจต้อง surprise เป็นระยะ ๆ ทุก ๆ 6-8 สัปดาห์ว่า เฟดยังไม่จบ” ต้องขึ้นไปต่อ อีกพอสมควร