ยูเอ็นหนุนธุรกิจ “แมลง” สู้วิกฤต “ขาดแคลนอาหาร”

แฟ้มภาพ

ประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบันสร้างความกังวลด้านอาหารแก่ผู้คนทั่วโลก องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คาดว่าในปี 2050 จำนวนประชากรทั่วโลกจะมีอยู่ราว 9,100 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 34% หมายความว่าความต้องการอาหารจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปัจจุบัน

รายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ระบุว่าทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารก็คือการส่งเสริม “การบริโภคแมลง” เพราะวัฒนธรรมการบริโภคแมลงเป็นที่แพร่หลายทั่วโลก โดยมีผู้คน 2 ล้านคนในปัจจุบันบริโภคแมลงกว่า 1,900 สายพันธุ์ โดยเฉพาะ ในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา

“แมลง” ได้รับความสนใจมากขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เอฟเอโอชี้ว่า แมลงมีสารอาหารไม่ต่างจากเนื้อสัตว์หรือปลา และใช้ทรัพยากรในการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงน้อยกว่าสัตว์อื่น ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จในการใช้แมลงเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร คือ “กูร์เมต กรูบ” (Gourmet Grubb) ในเมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ โดยจำหน่ายไอศกรีมที่ใช้วัตถุดิบจากแมลงในการผลิต ด้วยการใช้ “เอ็นโทมิลก์” (EntoMilk) มีลักษณะคล้ายนม แต่ผลิตจาก “หนอนเสือดำ” หรือ “หนอนแมลงวันลาย” โดยนำมาผลิตเป็นไอศกรีมหลากรสชาติ

ลีอาห์ เบสซ่า หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกูร์เมต กรูบ ระบุว่า “เรากำลังเปลี่ยนภาพจำที่ไม่ดีของผู้คนที่มีต่อแมลง ด้วยการนำมันมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร ในตอนแรกเราคาดว่าจะถูกกระแสตีกลับ แต่ผู้คนกลับเปิดใจมากกว่าที่คิด ทุกคนรักไอศกรีม !”

ไอศกรีมของกูร์เมต กรูบ ไม่เพียงมีเนื้อครีมไม่ต่างจากไอศกรีมจากผลิตภัณฑ์นมอื่น ๆ แต่ยังมีโปรตีนสูงกว่าผลิตภัณฑ์นมจากวัวถึง 5 เท่า และมีไขมันดี ธาตุสังกะสี ธาตุเหล็ก และแคลเซียมสูงอีกด้วย นอกจากนี้ยังปราศจากน้ำตาลแล็กโทสและกลูเตนที่ทำให้เกิดอาการแพ้ในบางคนด้วย

เบสซ่าระบุเพิ่มว่า การทำฟาร์มแมลงสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์ ฟาร์มแมลงไม่ต้องการพื้นที่กว้าง ไม่ใช้น้ำและอาหารในการเลี้ยงมากนัก ทำให้การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นมอื่น ทั้งนี้ การเลี้ยงแมลงยังช่วยย่อยสลายขยะได้ด้วย

อุตสาหกรรมอาหารทั่วโลกกำลังให้ความสนใจอาหารที่ผลิตจากแมลงมากขึ้น อย่าง “เอ็นโทโม ฟาร์ม” (Entomo Farms) บริษัทผู้ผลิตแมลงอบแห้งบรรจุขาย ภายใต้แบรนด์ “บัค บริสโทร” (Bug Bistro) ในสหรัฐอเมริกา หรือ “ลาทเตลเยราปาต” (L”Atelier a Pates) ของฝรั่งเศส ได้มีการขายพาสต้าที่ทำจากแป้งผสมตั๊กแตนและจิ้งหรีด ขณะที่ไทยมีแบรนด์ “ไทยแลนด์ ยูนีค” (Thailand Unique) ที่ส่งออกผลิตภัณฑ์จากแมลง ทั้งแมลงอบแห้ง ขนมหวาน และวอดก้า

ปัจจุบันทิศทางตลาดการบริโภคแมลงกำลังขยายตัวอย่างมาก ผลการวิจัยของ “เมติคูลัส รีเสิร์ช” บริษัทวิจัยการตลาดของอินเดียชี้ว่า ในปี 2023 ตลาดแมลงกินได้ทั่วโลกจะเพิ่มมูลค่าขึ้นถึง 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!