
กรมศิลปากรเปิดเผยแนวทางอนุรักษ์และฟื้นฟูเจดีย์วัดศรีสุพรรณ จ.เชียงใหม่ หลังถล่มเมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่ผ่านมา
วันที่ 5 ตุลาคม 2565 นายบพิตร วิทยาวิโรจน์ รองอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยถึงแนวทางในการอนุรักษ์และฟื้นฟูเจดีย์วัดศรีสุพรรณ จ.เชียงใหม่ ว่ากรมศิลปากรจะบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ โดยจะมอบหมายให้วิศวกรเข้ามาประเมินสภาพและความปลอดภัยของพื้นที่บริเวณองค์เจดีย์ ก่อนจะมอบหมายให้ทีมนักโบราณคดีเข้าศึกษาและคัดแยกหลักฐานทางโบราณคดีร่วมกับจิตอาสาและอาสาสมัครจากสถาบันการศึกษา
- พระราชินี ทรงนำทีมแข่งขันเรือใบนานาชาติ เข้าเส้นชัยอันดับ 1
- พระราชินี เสด็จฯ ส่วนพระองค์ ทรงร่วมวิ่ง CIB RUN 2023 ระยะทาง 10 กิโลเมตร
- 3 “ท่าเรือบกอีสาน” รุกคืบอุดรฯเปิดนิคมเชื่อม “รถไฟจีน-ลาว”
โดยระหว่างการดำเนินการจะมอบหมายให้ภัณฑารักษ์และนักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์เข้ามาจัดทำทะเบียนและอนุรักษ์โบราณวัตถุไปพร้อมกัน นอกจากนี้ กรมศิลปากรยังมอบหมายให้นักจดหมายเหตุบันทึกเหตุการณ์ทุกขั้นตอน เพื่อจัดทำจดหมายเหตุเป็นองค์ความรู้เรื่องของการบูรณะองค์เจดีย์ในอนาคต ซึ่งภายหลังจากกระบวนการศึกษาทางโบราณคดีแล้วเสร็จ จะนำไปสู่การร่วมกันหาแนวทางการบูรณะหรือฟื้นฟูเจดีย์วัดศรีสุพรรณในลำดับต่อไป
ทั้งนี้ ได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแจ้งความคืบหน้าการบูรณะพระธาตุเจดีย์วัดศรีสุพรรณแล้ว
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเย็นวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา พระเจดีย์ธาตุวัดศรีสุพรรณ ตั้งอยู่ที่ถนนวัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนแบบล้านนา ฝีมือช่างหลวง ทรงองค์ระฆังกลม บนฐานดอกบัวคว่ำบัวหงาย แปดชั้นแปดเหลี่ยม ตั้งบนฐานรองรับทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สามสิบหก สูงประมาณตึก 3 ชั้น มีอายุกว่า 500 ปี ได้พังถล่มลงมา
ซึ่งพระครูพิทักษ์สุทธิคุณ (สุพล สุทฺธสีโล) เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ เปิดเผยว่า ก่อนที่เจดีย์จะพังลงมา ทางวัดเห็นรอยร้าวก่อนเกิดเหตุ 3 วัน จึงได้แจ้งกรมศิลป์ และทางคณะสงฆ์ก็เฝ้าดูตลอดเวลา และห้ามนักเรียนและคนทั่วไปเข้าไปในบริเวณดังกล่าว
ขณะที่สาเหตุที่เจดีย์พังทลายนั้น นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากรที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า มาจากการสร้างครอบเจดีย์องค์เก่า ทำให้ความชื้นในเจดีย์องค์เก่าไม่สามารถระเหยออกมาได้ เพราะมีการทาสีทองทับเหมือนกับเป็นฟิล์มครอบความชื้นในเจดีย์ เมื่อน้ำฝนซึมเข้าบริเวณรอยร้าวของเจดีย์เข้าไปสะสม นานเข้าจึงเกิดวิบัติและถล่มลงมา