ฟุตบอลโลก 2022 : สมาคมทีวีดิจิทัล ร้อง กสทช. ดูสดบอลโลกต้องทั่วถึง

ภาพจาก มติชน

สมาคมทีวีดิจิทัล ร้อง กสทช. วินิจฉัยกรณี กกท. แบ่งนัดถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ยืนยัน เงิน 600 ล้านบาท จาก กสทช. คือส่วนหนึ่งจากใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ย้ำหลักการ การถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีต้องทั่วถึง-เท่าเทียม

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 มติชนรายงานว่า สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เข้ายื่นหนังสือถึง กรรมการ กสทช. เพื่อวินิจฉัยหลักการการจัดสรรการถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 โดยมี พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้แทน ศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) รับหนังสือ

โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า ตามที่สำนักงาน กสทช. โดยกองทุน กทปส. ได้ให้เงินสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก (รอบสุดท้าย) จำนวน 600 ล้านบาท แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อนำไปเป็นเงินตั้งต้นในการดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) จากกรุงโดฮา รัฐกาตาร์ โดยมีหลักการตามบันทึกข้อตกลงที่ได้ระบุไว้ว่า ให้จัดสรรการถ่ายทอดสดแก่ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงทั้ง 64 คู่ตลอดการแข่งขัน

เนื่องด้วยการดำเนินการของ กกท.เกี่ยวกับการจัดสรรการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในครั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นให้มีการประชุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 มีข้อพึงสังเกตถึงความไม่ถูกต้องในการจัดสรรการถ่ายทอด ในการนี้ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) จึงเรียนมายังคณะกรรมการ กสทช. เพื่อโปรดตรวจสอบ และวินิจฉัยว่า การจัดสรรในครังนี้มีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ ตามรายละเอียดดังนี้

1.การได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 600 ล้านบาท จากกองทุน กทปส. ซึ่งเป็นเงินที่ได้ส่งมอบมาจากผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อเป็นเงินทุนในการสนับสนุน ส่งเสริม วิจัย และพัฒนาในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ นั่นหมายถึงผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ ได้ร่วมสนับสนุนไปกับกิจกรรมนี้ด้วยเช่นกัน

การจัดสรรแมตช์ในการถ่ายทอดสดให้แก่ช่องต่าง ๆ ควรเป็นไปตามมติในการให้เงินสนับสนุนของ กสทช.ทั้ง 64 แมตช์ (แบ่งสิทธิประโยชน์ตามสัดส่วนของการสนับสนุน คือคิดเป็น 40% ของงบประมาณการซื้อลิขสิทธิ์ 1,400 ล้านบาท) ไม่ใช่เพียง 32 แมตช์ และได้รับหลังจากที่ผู้สนับสนุนหลัก (กลุ่มทรู ซึ่งมีธุรกิจเป็นช่องทีวีดิจิทัลด้วย) ได้เลือกแมตช์สำคัญไปแล้ว ซึ่งสะท้อนถึงความไม่ทั่วถึง และไม่เท่าเทียมอย่างมาก

2.กรณีกลุ่มทรูให้การสนับสนุนจำนวน 300 ล้านบาท ได้รับสิทธิประโยชน์ ครอบคลุมสิทธิการถ่ายทอด ทุกช่องทาง ทุกแพลตฟอร์ม แบบเอ็กซ์คลูซีฟ ได้สิทธิในการเลือกคู่แข่งขัน จำนวน 32 แมตช์ และได้นาทีโฆษณา จากช่องทีวีดิจิทัลที่ร่วมถ่ายทอดจาก กกท.

ภาพจาก มติชน

ส่วน กสทช.สนับสนุนเงินผ่าน กองทุน กทปส. จำนวน 600 ล้านบาท ด้วยมติต้องจัดสรรสิทธิการถ่ายทอด ให้แก่ช่องทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นแหล่งที่มารายได้ของกองทุน อย่างทั่วถึง เท่าเทียม ทั้ง 64 แมตช์ กลับได้รับการจัดสรรสิทธิเพียง 32 แมตช์ และเป็นแมตช์ที่เหลือจากที่กลุ่มทรูได้เลือกไปแล้ว ซึ่งถือเป็นการสัดส่วนที่ไม่เป็นธรรม และผิดต่อหลักการ “ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ” และเอื้อประโยชน์กับเอกชนรายใดรายหนึ่งอย่างชัดเจน

3.ทาง กกท.ได้มีการจัดสรรการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเรียบร้อยแล้วในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ตั้งแต่เวลา 10.00-16.00 น. โดยให้สิทธิแก่กลุ่มทรูที่เป็นผู้สนับสนุนหลักได้เลือกแมตช์ต่าง ๆ ก่อนตามภาพประกอบ โดยแบ่งส่วนที่เหลือจากการเลือก 32 แมตช์ ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ทั้ง 21 ช่องที่ร่วมถ่ายทอด

โดยทั้งนี้ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) และสมาชิกช่องสถานี ได้ทักท้วงหลายครั้งต่อ กกท. ในหลักการที่ไม่สอดคล้องกับมติ “ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ” ของ กสทช. แต่ทาง กกท.ก็ยังยืนยันที่จะดำเนินการต่อไป

ในการนี้ ทางสมาคมจึงเรียนมายังคณะกรรมการ กสทช. เพื่อยืนยันว่า การที่สถานีโทรทัศน์ดิจิทัลช่องสมาชิก 13 ช่องที่เสนอรับสิทธิร่วมถ่ายทอด ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ กกท. ซึ่งขัดต่อหลักการ “ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ”

แต่ได้จำยอมร่วมจับสลากไปในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 นั้น เหตุเพราะคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ชมฟุตบอลโลก ที่จะมีการถ่ายทอดสดคู่แรก ในวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2565 เวลา 23.00 น. ให้สามารถดำเนินไปได้ก่อน

และได้แจ้งต่อที่ประชุมของ กกท. อย่างชัดเจนแล้ว การจับสลากครั้งนี้ สมาคมไม่ถือเป็นการยอมรับในหลักการและวิธีการของ กกท. ขอสงวนสิทธิในการทักท้วงไม่เห็นด้วยในการจัดสรรการถ่ายทอดของ กกท.

โดยเรียนมายัง คณะกรรมการ กสทช.เพื่อวินิจฉัยว่า การจัดสรรสิทธิการถ่ายทอดสดของ กกท. เป็นไปโดยชอบ และขัดกับหลักการ “ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ” ของ กสทช. หรือไม่ อย่างไร

“ทรู” แจ้งผู้ประกอบการ OTT-กล่องไอพีทีวี กกท.ให้สิทธิขาด ชมออนไลน์ได้เฉพาะช่องทางของทรูเท่านั้น

ย้อนกลับไปเมื่อคืนที่ผ่านมา (20 พ.ย. 2565) เฟซบุ๊กแฟนเพจ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าว โพสต์ภาพหนังสือของกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ส่งไปให้ผู้ประกอบการกล่องไอพีทีวี และ Over-The-Top (OTT) ทุกเจ้า โดยระบุว่า

“ตามที่ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้รับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบ สุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน-18 ธันวาคม 2555 ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ โดย กกท.ได้รับงบประมาณสนับสนุนส่วนหนึ่งจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ทั้งนี้ งบประมาณดังกล่าวที่ได้รับจาก กสทช. ไม่เพียงพอต่อค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันดังกล่าว กกท.จึงได้เข้าทำสัญญากับบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด และบริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด (รวมเรียกว่า กลุ่มทรู) เพื่อเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม

โดย กกท.ได้ตกลงมอบสิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่กลุ่มทรู ซึ่งรวมถึงการให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) ผ่านระบบเคเบิล (Cable Transmission) ระบบดาวเทียม (Satellite Transmission) ระบบไอพีทีวี (IPTV Transmission) ระบบอินเทอร์เน็ต (Internet Transmission) ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Transmission) และระบบ OTT และยังให้สิทธิแบบไม่จำกัดแต่เพียงผู้เดียวผ่านช่องทางโทรทัศน์ ภาคพื้นดิน (Terrestrial Transmission) นั้น

กลุ่มทรู จึงขอเรียนแจ้งให้ท่านทราบถึงสิทธิการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) ของกลุ่มทรู และขอให้ดำเนินการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) โดยไม่ละเมิดสิทธิของกลุ่มทรู เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการถ่ายทอดสดการแข่งขันบนระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (Terrestrial Transmission)

จะมีการนำไปเผยแพร่ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 ได้เฉพาะบนระบบดาวเทียม (Satellite Transmission) และระบบเคเบิล (Cable Transmission) เท่านั้น ไม่รวมถึงบนระบบไอพีทีวี (IPTV Transmission) ระบบอินเทอร์เน็ต (Internet Transmission) ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Transmission) และระบบ OTT”

ขณะที่เมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกนัดเปิดสนาม ผู้ชมส่วนใหญ่มีการตั้งคำถามถึงการรับชมการถ่ายทอดสดเป็นอย่างมาก ทั้งการออกอากาศในความคมชัดมาตรฐาน หรือ Standard Definition (SD) และช่องทางการรับชมที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถดูได้ เนื่องจากดูทางออนไลน์ และไม่ได้ใช้บริการของกลุ่มทรู เป็นต้น

ภาพจาก Facebook สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว
ภาพจาก Facebook สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว