15 บทเรียน โควิด-19 เมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 4

โควิด

นพ.ยง ประมวลการระบาดของโควิด-19 ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เป็นบทเรียน 15 ข้อ อาทิ แนวโน้มที่ความรุนแรงของโรคลดลงแต่ควบคุมยากขึ้น วัคซีนแต่ละชนิดไม่แตกต่างกัน ความจำเป็นของการใช้วิทยาศาสตร์ การศึกษาวิจัยแก้ปัญหา ฯลฯ

วันที่ 4 มกราคม 2566 นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ระยะเวลาผ่านไป ความรู้เกี่ยวกับ covid-19 ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด เป็นโรคใหม่ จึงจำเป็นต้องใช้ความรู้ และวิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหา เรามีผู้เชี่ยวชาญมากเหลือเกินจึงเกิดความสับสนในสังคม การเปลี่ยนแปลงเห็นได้ชัดเจนดังนี้

1.การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ทำให้ความรุนแรงของโรคลดลงมาโดยตลอด ความรุนแรงของโรคที่ลดลงเพื่อความอยู่รอดของตัวไวรัส และสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้ง่าย ความรุนแรงจะลดลง

2.ความรุนแรงลดลง ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เป็นแบบไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย จึงยากที่จะควบคุม

3.ประเทศไทยมีการติดเชื้อไปแล้วไม่น้อยกว่า 70% หรือประมาณ 50 ล้านคน และก็เช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ ในโลกนี้ ประชากรส่วนใหญ่จะเคยติดเชื้อแล้ว

4.ในระยะแรกมีมาตรการเข้มงวด ปิดบ้านปิดเมือง งดการเดินทาง แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้ จะเห็นได้ว่าเมื่อมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นก็สามารถแพร่กระจายไปได้ทั่วโลกเหมือนกัน

5.การป้องกันสายพันธุ์ใหม่จากผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ในสภาวะปัจจุบัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะป้องกัน ใช้แต่เฝ้าระวังการตรวจสายพันธุ์เท่านั้น

6.ถึงแม้จะมีมาตรการการตรวจ ก่อนเดินทางอย่างในอดีต ก็ไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์ใหม่ที่จะเข้ามาระบาดได้ เป็นเพียงช้าหรือเร็วเท่านั้น

7.ในระยะแรกการตรวจวินิจฉัย เพื่อป้องกันการระบาดของโรค จึงใช้การตรวจวินิจฉัยที่มีความไวสูงมาก คือ RT PCR ต่อมาเมื่อความรุนแรงลดลง การตรวจด้วยความไวต่ำ ประมาณ 80% คือ ATK ก็เป็นที่ยอมรับถูกนำมาใช้ เพราะมีราคาถูกกว่ามาก และการตรวจจะลดลงอีก จะตรวจเฉพาะในผู้กลุ่มที่มีอาการเพื่อการวินิจฉัยเท่านั้น

8.ระยะแรกความหวังในการยุติการระบาดของโรคอยู่ที่วัคซีน เมื่อระยะเวลาผ่านไป ก็พบว่าวัคซีนไม่สามารถที่จะยุติการระบาดของโรคได้ เป็นเพียงลดความรุนแรงของโรคลงเท่านั้น

9.เวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า วัคซีนแต่ละ platform หรือแต่ละชนิด ไม่ได้แตกต่างกันเลย อย่างประเทศตะวันตก ญี่ปุ่น ใช้แต่วัคซีน mRNA การระบาดของโรคขณะนี้ก็อยู่ในประเทศต้น ๆ และอัตราผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้แตกต่างกัน ถ้าตู่ตัวเลขต่อประชากรก็ไม่น้อยเลยทีเดียว

10.การลดความรุนแรงของโรค ขึ้นอยู่กับจำนวนเข็มของวัคซีน การฉีดวัคซีนครบ หมายถึงจะต้องฉีด 3 ครั้ง เป็นอย่างน้อยคือการฉีดเบื้องต้น 2 ครั้ง และกระตุ้นอีก 1 ครั้ง ระยะเวลาผ่านมานาน จากการเริ่มให้วัคซีนมาถึงปัจจุบันรวม 2 ปี การกระตุ้นครั้งที่ 2 หรือ 3 สามารถทำได้ เพื่อยกระดับภูมิต้านทานของร่างกายในการที่จะลดความรุนแรงของโรค

11.ประเทศต่าง ๆ ได้มีการทำลายวัคซีนที่หมดอายุทิ้งเป็นจำนวนมาก เพราะในระยะแรกมีการจองกัน เป็นจำนวนมาก ความสูญเสียค่าใช้จ่ายของวัคซีนเป็นจำนวนมาก เพราะจองแล้วต้องจ่ายเงิน ไม่สามารถเอาเงินคืนได้ การทำตามแรงกดดันทางสังคม ทำให้สูญเสียเงินอย่างมาก และ เป็นบทเรียนสอนให้รู้จักแบ่งปัน ขณะนี้บริษัทวัคซีนต่างๆ ลดการผลิต ลงอย่างมาก และตลาดวัคซีนขณะนี้เป็นของผู้ซื้อ วัคซีนที่รอวันหมดอายุมีเป็นจำนวนมาก รอการทำลายทิ้ง

12.แนวโน้มของโรคในอนาคต โรคโควิด-19 ก็คงจะอยู่กับเรา และเป็นโรคทางเดินหายใจโรคหนึ่ง เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ

13.ใน 3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า มีวิธีการรักษา ป้องกัน เกิดขึ้นทางสื่อสังคมมากมาย รวมทั้งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สมุนไพร ตามความเชื่อของแต่ละบุคคล ไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ ในการพิสูจน์ว่าใช้ได้จริง ตามกฎเกณฑ์มาตรฐาน ประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญมากเหลือเกิน จึงเกิดความสับสนในสังคม

14.บทเรียนที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า การแก้ปัญหาจะต้องใช้วิทยาศาสตร์ การศึกษาวิจัย มากกว่า การใช้ความรู้สึก คิดว่า คาดว่า มาแก้ปัญหา โดยเฉพาะปัญหา ทางสื่อสังคม ผลักดัน ทำให้เกิดความสูญเสียทาง สาธารณสุข จิตใจ เศรษฐกิจ สังคม เราจะต้องเรียนรู้อยู่กับโรคนี้ต่อไป

15.ปีที่ 4 นี้ ทุกคนยอมรับและอยู่กับโควิด-19 เศรษฐกิจสังคมจะเข้าสู่ภาวะปกติ การนับจำนวนไม่สามารถทำได้จริง และในที่สุดองค์การอนามัยโลกก็คงจะยุติการนับจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต เพราะตัวเลขที่ได้มาต่ำกว่าความเป็นจริงมาก