เหตุเกิดที่ “สถานีกลางบางซื่อ” ปมร้อนรถไฟ-ค่าติดตั้งป้าย 33 ล้านบาท

สถานีกลางบางซื่อ

เหตุเกิดที่ Bang Sue Grand Station-สถานีกลางบางซื่อ แต่อุณหภูมิร้อนฉ่าไปถึงกระทรวงคมนาคม

ล่าสุด “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตอบกระทู้สด “จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์” ส.ส.พรรคก้าวไกล เรื่อง กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จ้างปรับปรุงป้ายสถานีกลางบางซื่อ มูลค่า 33 ล้านบาท

เหตุใดจึงต้องขอพระราชทานชื่อใหม่ และราคาที่ต้องใช้กว่า 33 ล้านบาท แพงไปหรือไม่ รวมทั้งเหตุใดต้องใช้วิธีการเฉพาะเจาะจงในการจัดซื้อจัดจ้าง

คำชี้แจงเหตุผล “เปลี่ยนชื่อ”

คำชี้แจงของ “รมว.ศักดิ์สยาม” ระบุว่า การขอพระราชทานชื่อไม่ใช่เพราะความต้องการส่วนตัว แต่เป็นการเปลี่ยนตามประเพณีปฏิบัติ เช่นเดียวกับโครงการใหญ่ ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น สนามบินหนองงูเห่าที่เปลี่ยนเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ

พร้อมชี้แจงด้วยว่า กระทรวงคมนาคมริเริ่มการขอพระราชทานชื่อมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 ก่อนที่จะมีการเปิดให้บริการใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อในปีเดียวกัน

หลังจากนั้น ได้มีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อ เมื่อ 8 มิถุนายน 2565

สำหรับเรื่องค่าใช้จ่าย ได้รับรายงานจากการรถไฟฯว่า ราคาดังกล่าวไม่ใช่เพียงแค่ตัวป้าย แต่ยังมีการดำเนินการอื่น เช่น ค่ารื้อถอน การติดตั้งกระจกใหม่ เป็นไปตามกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างและบริหารงานพัสดุภาครัฐ ปี 2560

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

ส่วนสาเหตุที่ใช้วิธีแบบเฉพาะเจาะจง เนื่องจากเป็นการก่อสร้างที่กระทบกับโครงการเดิมที่ดำเนินการอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการค้ำประกัน และเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ประกอบด้วยทุกภาคส่วน ซึ่งจะรายงานผลภายใน 15 วัน

“เรื่องการเปลี่ยนชื่อ เป็นเรื่องประเพณีปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นความต้องการของผม” คำกล่าวย้ำของ “ศักดิ์สยาม”

พระราชทานนาม 2 ก.ย. 65

ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือเลขที่ นร.0508/14784 ลงวันที่ 2 กันยายน 2565 เรื่อง ขอพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) และสถานีกลางบางซื่อ

สำนักพระราชวังแจ้งว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟฯ และสถานีกลางบางซื่อ ดังนี้

พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า “นครวิถี”

พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะที่ 1 ว่า “ธานีรัถยา”

พระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อ ว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์”

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562 และเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 กระทรวงคมนาคมจึงได้สั่งการให้ ร.ฟ.ท. ติดตั้งป้ายชื่อพระราชทานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

กก.รายงานผล 18 ม.ค. 66

สําหรับลักษณะป้ายชื่อพระราชทาน “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” บริเวณโดมด้านหน้าสถานีกลางทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ประกอบด้วย

1) ตัวอักษรภาษาไทย “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ขนาดสูง 3 เมตร กว้าง 2.6 เมตร หนา 40 เซนติเมตร

2) ตัวอักษรภาษาอังกฤษ “Krung Thep Aphiwat Central Terminal” ขนาดสูง 2.1 เมตร กว้าง 2.2 เมตร หนา 40 เซนติเมตร

ผลิตตัวอักษรด้วยอะคริลิกสีขาวนม ยกขอบ และซ่อนไฟด้านหลัง ทางการรถไฟฯได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตของงานและราคากลาง โครงการจัดทําป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ เมื่อ 6 ตุลาคม 2565

และคำสั่งใหม่ วันที่ 6 ธันวาคม 2565 เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นป้ายขนาดใหญ่ มีความยาวชื่อจำนวนตัวอักษรเพิ่มขึ้นจากเดิม ป้ายอักษรติดตั้งโดยมีเสารับน้ำหนักในตัวอาคารและเจาะทะลุกระจก ตัวอักษรแต่ละตัว

ทั้งนี้ ตามที่มีกระแสข่าวปรากฏในสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ รวมทั้งโซเชียลมีเดีย กระทรวงคมนาคมได้มีคําสั่ง ณ วันที่ 4 มกราคม 2566 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงป้าย สถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ

โดยกำหนดให้รายงานผลการสอบสวนภายใน 15 วัน หรือภายใน 18 มกราคม 2566 นี้

การรถไฟฯเคลียร์ 5 ปม

ขณะเดียวกัน หน่วยงานต้นสังกัดคือการรถไฟฯ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมประเด็นราคาจัดซื้อจัดจ้างค่าตัวอักษรชื่อ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” (ดูกราฟิกประกอบ) เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง หลังจากยังมีผู้ที่แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อโซเชียลมีเดียคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงในหลายประเด็น สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1.การปรับปรุงป้าย ไม่ได้ปรับเปลี่ยน 56 อักษร แต่ปรับปรุงป้ายชื่อมากถึง 112 ตัวอักษร (110 ตัวอักษร กับ 2 ตราสัญลักษณ์)

2.รายละเอียดการติดตั้งตัวอักษร แบ่งเป็นภาษาไทยฝั่งละ 24 ตัว ภาษาอังกฤษฝั่งละ 31 ตัว และตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ ฝั่งละ 1 ตราสัญลักษณ์ รวม 2 ฝั่ง จะมีอักษรภาษาไทย 48 ตัว ภาษาอังกฤษ 62 ตัว รวมทั้งสิ้น 112 ตัวอักษร และ 2 ตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ

3.ขอบเขตวงเงิน 33 ล้านบาท ไม่ได้มีเพียงแค่ค่าใช้จ่ายปรับปรุงป้ายชื่อเพียงอย่างเดียว แต่รวมงานรื้อถอน เปลี่ยนผนังกระจก โครงผนังกระจกอะลูมิเนียม ระบบไฟแสงสว่าง ออกแบบด้านวิศวกรรมโครงสร้าง ตลอดจนการรับประกันความชำรุดบกพร่อง 1 ปี

ดังนั้น การตั้งข้อสังเกตงบประมาณปรับปรุงป้ายชื่อในราคาตัวอักษรละ 5 แสนบาท จึงไม่ใช่ความจริง

4.ที่สำคัญราคาการเปลี่ยนป้ายชื่อดังกล่าว ยังสอดคล้องกับราคาประมาณการของ “ชมรมป้าย” ซึ่งประเมินค่าใช้จ่ายเนื่องจากขนาดตัวอักษรป้ายชื่อมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษอีกด้วย

เปิดกฎหมายจ้างยูนิคฯ “ตรงปก”

5.ประเด็นจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง การรถไฟฯชี้แจงว่า เนื่องจากเป็นการจ้างปรับปรุงเพิ่มเติม แต่สถานที่ทำงานได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ และอยู่ในระหว่างการรับประกันความชำรุดบกพร่องของ “กิจการร่วมค้าเอส ยู” ประกอบด้วย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น

โดยบริษัทยูนิคฯ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสถานี และสัญญายังอยู่ในระยะเวลาการรับประกันงานก่อสร้าง ดังนั้นเมื่อจะทำงานปรับปรุงป้ายเพิ่มเติม บริษัทยูนิคฯจึงเป็นเอกชนที่มีความเหมาะสมรับงานปรับปรุงป้ายมากที่สุด

ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง 2560 (2) (ค) ที่ให้หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการจัดจ้างจากผู้ประกอบการซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียว ซึ่งถือเป็นการดำเนินการตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และหลักธรรมาภิบาลทุกประการ