ทางเลียบเจ้าพระยา ชัชชาติ ดับฝันโครงการยักษ์ ประยุทธ์-คสช.

ทางเลียบเจ้าพระยา ชัชชาติ ดับฝันโครงการยักษ์ ประยุทธ์-คสช

ย้อนรอยทางเลียบเจ้าพระยาโครงการในฝัน ประยุทธ์-คสช. ก่อนถึงวันชัชชาติพับโครงการ

โครงการทางเลียบเจ้าพระยาเคยถูกจุดไอเดียมาไม่น้อยกว่า 30 ปีแล้ว จุดเริ่มของไอเดียมาจากแนวคิดของ พ.อ.วินัย สมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการคมนาคมในปี 2536 ยุคที่มีนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี

โดยมีแนวคิดสร้างถนน 6 ช่องจราจรเหนือผิวน้ำบริเวณไหล่ทางทำเป็นสวนสาธารณะและทางจักรยาน ระยะทางรวม 35 กิโลเมตร จากเชิงสะพานปิ่นเกล้าถึงเชิงสะพานปากเกร็ด 20 กิโลเมตร และจากเชิงสะพานปิ่นเกล้าถึงสะพานพระนั่งเกล้าอีก 15 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 25,000 ล้านบาท

แต่โครงการสะดุดหยุดลง เมื่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติตรวจสอบแล้วพบว่าโครงการมีผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะการกระทบกับโบราณสถานและแหล่งศิลปวัฒนธรรมบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ก่อนไอเดียของทางเลียบเจ้าพระยาจะหายจากสังคมไทยพักใหญ่

ต่อมาในในรัฐบาลเพื่อไทยเมื่อปี 2555 หลัก “มหาอุทกภัย” หรือ “น้ำท่วมใหญ่ปี 2554” มีการเดินหน้าโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาในจังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี แต่เป็นรูปแบบเสริมระดับของถนนเพื่อป้องกันน้ำท่วม

ต่อมาปรากฏโครงการทางเลียบเจ้าพะระยาในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในปี 2556 ผ่านนโยบายของ พล.ต.อ.พงศพัศน์ พงษ์เจริญ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคเพื่อไทย ที่ชูนโยบายเด่นสร้างทางเลียบเจ้าพระยาระยะทาง 17 กิโลเมตร จากสะพานสาทรถึงสะพานพระราม 8 พร้อมชูรถรางติดแอร์เพื่อแก้ปัญหาการจราจร

แต่โครงการก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัฒน์ เป็นผู้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนั้น

ทางเลียบเจ้าพระยาในยุค คสช.

ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพียง 2 วัน คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้นำโครงการ “ทางเลียบเจ้าพระยา” มาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง โดยนำไปใส่ในวาระเร่งด่วนในแผนพัฒนาประเทศแบบบูรณาการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการน้ำและแก้ปัญหาการจราจรอย่างเป็นระบบ

และในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวในงานเทศกาลจักรยานว่า “ผมเป็นคนชอบการขี่จักรยาน เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุด ฝันมีแนวคิดสร้างเส้นทางจักรยานริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนเกาหลีใต้ แม้จะใช้งบประมาณสูง หากไม่คิดตั้งแต่วันนี้ก็จะไม่เกิด จึงพยายามพูดคุยกับผู้บริหาร กทม. ต้องทำผังเมืองกรุงเทพฯใหม่ เพราะไม่สามารถอยู่เช่นนี้ได้อีก ประเทศเราเป็นประเทศที่เล็ก ถนนมีจำกัดและแคบ ทางระบายน้ำก็แคบ ฟุตปาทก็แคบ ต้องมีการพัฒนาสู่อนาคตที่ยั่งยืน”

และในวันที่ 6 มกราคม 2558 ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา

โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีหน้าที่ คือ กำหนดแนวทางในการดำเนินโครงการ รวมถึงจัดทำแนวทางการศึกษาความเหมาะสม จัดทำรายละเอียดการออกแบบและการก่อสร้าง ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแต่งตั้งอนุกรรมการและคณะทำงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการโครงการบรรลุวัตถุประสงค์

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนโครงการ และมอบหมายให้กรุงเทพมหานครศึกษาแนวคิด การออกแบบและงานด้านภูมิสถาปัตยกรรม ตลอดจนแนวทางการพัฒนาพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย

ด้านกรุงเทพมหานครที่อยู่ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจากการแต่งตั้งตามมาตรา 44 รับลูกจากรัฐบาลเร่งเดินหน้าศึกษาโครงการ ผ่านการจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในวงเงิน 120 ล้านบาท

รูปแบบโครงการ

รูปแบบทั้งโครงการจะเป็นการดำเนินการพัฒนาทางเลียบเจ้าพระยาจากถนนพระราม 3 ถึงสะพานพระนั่งเกล้า ฝั่งละ 25 กิโลเมตร รวมระยะทาง 50 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 30,000 ล้านบาท

ทางเลียบเจ้าพระยา

ซึ่งจะใช้สำหรับสร้างทางขนาด 6-10 เมตร ยื่นเข้ามาในแม่น้ำ สร้างต่ำกว่าระดับเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 1.50 เมตร ออกแบบเป็นทางขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมทางจักรยาน และมีจุดแลนด์มาร์กเป็นระยะ ๆ ตามจุดพื้นที่ที่มีความสำคัญมี 12 แผนงาน ได้แก่

  1. พัฒนาพื้นที่ชุมชน จะฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรมวิถีชีวิตของชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยว
  2. พัฒนาจุดหมายตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ พิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร, สวนเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 7, พิพิธภัณฑ์มรดกเจ้าพระยา, ศูนย์ศิลปะการแสดงแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์โรงเรือพระราชพิธี อีกทั้งยังให้ความสำคัญพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และเขตพระราชฐาน
  3. พัฒนาท่าเรือ ให้เป็นจุดเชื่อมต่อการสัญจรทางน้ำ และปรับปรุงรูปแบบสถาปัตยกรรมให้มีความสอดคล้อง เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่
  4. พัฒนาเส้นทางให้เข้าถึงพื้นที่ เช่น ปรับปรุงตรอก ซอก ซอย และเข้าถึงพื้นที่ริมแม่น้ำ
  5. พัฒนาทางเดินริมแม่น้ำ เชื่อมต่อพื้นที่มรดกวัฒนธรรมทั้ง 2 ฝั่ง เช่น สะพานพระราม 8 ถึงวัดบวรมงคล และบางอ้อ ถึงวัดวิมุตยาราม มีทางเท้า ทางจักรยาน จุดชมทัศนียภาพ สะพานข้ามคลอง ฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนริมน้ำ
  6. ปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อนให้มีทัศนียภาพที่สวยงาม ซ่อมแซมเขื่อนที่ชำรุด ก่อสร้างส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการให้เสร็จสมบูรณ์
  7. พัฒนาศาลาริมน้ำ ให้เป็นจุดพักผ่อน ศาลาคอย
  8. พัฒนาพื้นที่บริการสาธารณะ เช่น ข้อมูลท่องเที่ยว จุดบริการจักรยาน
  9. พัฒนาพื้นที่ศาสนสถานให้คำนึงถึงคุณค่าต่อศาสนา
  10. พื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์ จะปรับปรุงภูมิทัศน์และใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านการสัญจรและท่องเที่ยว
  11. พัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำบริเวณหลังเขื่อน รองรับกิจกรรมนันทนาการ ลานกีฬา และสวนสาธารณะ รวมถึงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังและเน่าเสียหลังเขื่อน
  12. สร้างสะพานคนเดินข้ามใหม่ 2 จุด คือ ชุมชนสะพานพิบูลฝั่งซ้าย ข้ามไปยังท่าเรือวัดฉัตรแก้วจงกลณี ฝั่งธนบุรี และห้างแม็คโคร สามเสน ไปยังท่าทราย ซอยจรัญสนิทวงศ์ 84 จะสร้างร่วมกับถนนเดิม ให้เป็นรูปแบบสะพานที่คนเดินข้ามได้

และมีการเตรียมก่อสร้างเฟสแรก “สะพานพระปิ่นเกล้า-สะพานพระราม 7” ระยะทางฝั่งละ 7 กิโลเมตร รวม 14 กิโลเมตร จากเดิมคาดว่าจะใช้งบประมาณ 14,000 ล้านบาท แต่มีการปรับรูปแบบโครงการใหม่ให้เหลือเฉพาะทางจักรยานและทางเท้า และเสริมที่พักริมน้ำและสวนสาธารณะในบางจุดทำให้ใช้งบประมาณเพียง 8,362 ล้านบาท

 

เจาะ 4 สัญญาก่อสร้างทางเลียบเจ้าพระยา งบฯ 8,362 ล้านบาท

กรุงเทพมหานครจึงดำเนินการเสนอโครงการ “ทางเลียบเจ้าพระยา” ไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่ออนุมัติโครงการ โดยการดำเนินการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจะแบ่งการดำเนินการออกเป็น 4 สัญญา ได้แก่

  1. โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 1 จากสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทาน ระยะทาง 2.99 กม. งบประมาณ 1,770 ล้านบาท
  2. โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 2 จากกรมชลประทาน ถึงคลองรอบกรุง ระยะทาง 3.26 กม. งบประมาณ 2,470 ล้านบาท
  3. โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด ระยะทาง 3.2 กม. งบประมาณ 2,061.5 ล้านบาท
  4. โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 4 จากคลองบางพลัด ถึงคลองบางยี่ขัน ระยะทาง 2.98 กม. งบประมาณ 2,5 ล้านบาท

โดยโครงการยังไม่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย พร้อมกันนั้นได้มีเสียงคัดค้านจากภาคประชาชนจากกว้างขวาง ทั้งจากรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร อานันท์ ปันยารชุณ อดีตนายกรัฐมนตรี สมัชชาแม่น้ำรวม 35 องค์กร ที่ประกอบด้วยองค์กรเด่น ๆ เช่น สมาคมนักวางผังเมือง และสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

และที่สั่นสะเทือนโครงการมากที่สุดจากการที่ภาคประชาชนโดยเครือข่ายวางแผนและพัฒนาเมืองเพื่อสังคมและมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมเพื่อสังคมได้ฟ้องศาลปกครองกลาง เพื่อให้ระงับการก่อสร้างโครงการ “ทางเลียบเจ้าพระยา” และขอศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

ไทม์ไลน์ศาลปกครองเบรกโครงการ

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 เครือข่ายวางแผนและพัฒนาเมืองเพื่อสังคมและมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมเพื่อสังคม และผู้ฟ้องคดีอื่นรวม 12 ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้อง คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าาพระยา กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครองกลางให้ระงับโครงการทางเลียบเจ้าพระยา

ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563  ศาลปกครองกลางได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ก่อจนกว่าจะมีคำพิพากษาตามคำร้องของภาคประชาชน และภาครัฐได้อุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลปกครองสูงสุด

วันที่ 30 มีนาคม 2564 ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งตามศาลปกครองกลางให้ระงับโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ก่อจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ซึ่งจากคำสั่งของศาลปกครองนี้ทำให้การดำเนินการโครงการทางเลียบเจ้าพระยาหยุดนิ่งไป

ก่อนในวันที่ 3 มีนาคม 2566 ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ โดยมีคำสั่งให้ระงับโครงการทางเลียบเจ้าพระยาจนกว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 จะมีการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

  1. มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
  2. จัดทำ EIA ให้ถูกต้องและครบถ้วน
  3. ขออนุญาตกรมเจ้าท่าให้ถูกต้อง
  4. มีหนังสือจากอธิบดีกรมศิลปากรมีคำสั่งอนุญาตกรณีมีโบราณสถานในบริเวณที่โครงการพาดผ่าน

ทางเลียบเจ้าพระยา

ชัชชาติ-รองผู้ว่าฯ ประสานเสียงพับเก็บโครงการประยุทธ์

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เป็นเรื่องดีที่ทำให้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากโครงการดังกล่าวไม่ได้ทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ทำประชาพิจารณ์ไม่รอบด้าน ไม่มีการขออนุญาตหน่วยงาน อย่างกรมเจ้าท่า และกรมศิลปากร

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า แนวคิดของ กทม.ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสิ่งสำคัญ ก่อสร้างเป็นทางเล็กสอดคล้องกับชุมชน บางทีอาจจะไม่ต้องทำทางเดินริมแม่น้ำยาวไปตลอด แต่ทำทางเข้าไปในชุมชน เช่น จากกุฎีจีนไปคลองสาน ทำทางเข้าไปทางสวนสมเด็จฯ เข้าไปยังชุมชน แล้วออกมาทางเดินริมแม่น้ำ ให้ขี่จักรยานได้ ให้เป็วิถีชุมชน เกิดความเชื่อมโยงได้

“คำสั่งของศาลปกครองเป็นแนวทางที่ดี ที่จะเป็นแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบต่าง ๆ ต่อไป” นายชัชชาติกล่าว

ด้านนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ลำดับแรกโครงการนี้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นนโยบายจากทางรัฐบาลดังนั้นการจะเดินหน้าต่อหรือยุติโครงการจะต้องพิจารณาจากนโยบายของรัฐบาลประกอบด้วย

แต่ถ้ามองตามนโยบายของกรุงเทพมหานครในปัจจุบันโครงการนี้ต้องเป็นโครงการที่พับเก็บไป เนื่องจากเรามองว่าการที่จะนำเงินหลักหมื่นล้านไปทุ่มในโครงการนี้โครงการเดียวเป็นเรื่องที่เกินกำลังของกรุงเทพมหานครไปมาก และการก่อสร้างทางเลียบตลอดแนวอาจจะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งจะทำให้การใช้ประโยชน์จากทางเลียบเจ้าพระยาไม่เต็มประสิทธิภาพ

โมเดลการพัฒนาทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาในยุคนี้จะทำตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยใช้โมเดลทางเลียบย่านกะดีจีนซึ่งพัฒนามาในสมัยท่านผู้ว่าฯ คนที่แล้วที่มีการพัฒนาพื้นที่ปรับปรุงทางเดินริมน้ำ ทำลานกลางแจ้ง จัดสวน ติดตั้งไฟส่องสว่าง และการออกแบบทั้งหมดตามหลัก Universal Design ในระยะทางประมาณ 650 เมตร โดยมีวงเงิน 112,200,000 บาท

นอกจากนั้นทางชุมชนในย่านกะดีจีนยังมีความตื่นตัว โดยวางแผนทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่จากโครงสร้างงานโยธาที่กรุงเทพมหานครได้ลงทุนไป ดังนั้นการจัดทำทางเลียบเจ้าพระยาต่อจากนี้จะต้องพิจารณา 2 ปัจจัย คือ

  1. ศักยภาพของพื้นที่ จำพวกจุดเชื่อมต่อ ผู้ที่จะมาใช้บริการว่าจะมีจำนวนมากน้อยเพียงใด เป็นจุดท่องเที่ยวหรือเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อกิจกรรม
  2. ความต้องการของคนในพื้นที่ว่าจะสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่หรือไม่

จะต้องมีการพิจารณา 2 ด้านนี้ควบคู่กัน เพราะหากไม่มีการพิจารณาแล้วการที่กรุงเทพมหานครไปสร้างไปจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้ก็จะไม่เกิดการใช้ประโยชน์ของพื้นที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะ กทม. ไม่สามารถไปวนจัด Event ได้ตลอดเวลา

ในลำดับต่อมาคือตอนนี้ได้มีการสั่งการให้สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองได้สำรวจโครงการศึกษาต่าง ๆ เกี่ยวกับทางเลียบเจ้าพระยา ซึ่งมีหลายโครงการมาก เท่าที่ผมสามารถพูดได้เร็ว ๆ คือ มีการศึกษาของมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในโบราณสถาน มีของมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบังร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ศึกษาโครงการที่มีข้อพิพาทในศาลปกครอง มีของ UDDC จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ศึกษาในหลายย่าน มาประมวลผลเพื่อให้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาทางเลียบเจ้าพระยาอื่น ๆ ในอนาคต

สำหรับคดีความ กรุงเทพมหานครเองจะไม่มีการอุทธรณ์ เนื่องจาก 2 เหตุผลหลัก ๆ คือคำพิพากษาของศาลปกครองมีเนื้อหาหลัก ๆ คือการแก้ไขปรับปรุงการดำเนินการซึ่ง กทม. เพียงนำมาดำเนินการก็เสร็จสิ้น และ กรุงเทพมหานครต้องการดำเนินการในรูปแบบย่านอย่างที่กล่าวข้างต้น