
ย้อนอดีต BRT ก่อนดูปัจจุบันที่อนาคตรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT ยังตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน
วันที่ 23 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 หรือประมาณอีก 5 เดือนนับจากวันนี้ สัญญารถโดยสารด่วนพิเศษหรือ BRT กำลังจะหมดลง หลังจากให้บริการมากว่า 13 ปี โดยปฏิกิริยาจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
- กูรูตลาดทุน วิเคราะห์วิสัยทัศน์ตัวเต็ง รมว.คลัง “ไม่แย่ แต่ ไม่ใช่”
- เลือกตั้งตุรกี : ทำไมชัยชนะของประธานาธิบดีแอร์โดอัน ถึงทำตุรกีแตกแยก
- เปิดประวัติ หมอชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย สู่ผู้ท้าชิงประธานสภา
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน แสดงความเห็นไว้ว่า การให้บริการ BRT ตอนนี้ประสบปัญหาจากจำนวนผู้โดยสารที่ลดจำนวนลงเหลือประมาณวันละ 1 หมื่นคนต่อวัน และสัญญาเดิมกำลังจะหมดลง จะต้องทบทวนการเดินรถว่าจะต้องทำอย่างไรให้คุ้มค่า
ย้อนอดีต 13 ปี
โครงการ BRT เริ่มต้นจากการเป็นงานนโยบายของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในช่วงแรกของนโยบายตั้งเป้าที่จะเดินรถใน 2 เส้นทาง คือ
- เส้นทางนวมินทร์-เกษตร-หมอชิต
- เส้นทางช่องนนทรี-สะพานกรุงเทพ
ก่อนในเวลาต่อมาจะมีการแก้ไขโครงการเหลือเพียงเส้นทางช่องนนทรี-สะพานกรุงเทพ โดยขยายเป็นเส้นทางช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ โดยมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งอยู่ในการกำกับของกรุงเทพมหานคร 2 จุดคือ สถานีช่องนนทรี และสถานีตลาดพลู โดยมีการตั้งงบประมาณสำหรับโครงการ BRT ระหว่างปี 2549-2560 ไว้ทั้งสิ้น 2,078,470,000 บาท
แม้ BRT เริ่มตั้งไข่ในช่วงผู้ว่าฯอภิรักษ์ แต่ BRT เปิดให้บริการวันแรกในยุคของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัฒน์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดให้บริการในวันที่ 29 พฤษภาคม 2553 เป็นวันแรก โดยเปิดเดินรถฟรี 3 เดือน ก่อนจะปรับอัตราค่าโดยสารเป็น 10 บาทตลอดสาย และมีแนวคิดที่จะกำหนดอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่เกิดขึ้นจริง
การดำเนินงานในช่วงแรกนั้น กรุงเทพมหานครได้จ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT วิสาหกิจของกรุงเทพมหานครให้ทำการเดินรถ ก่อนที่ KT จะดำเนินการจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ไปทำการเดินรถ โดยสิ้นสุดสัญญาจ้างเดินรถครั้งนี้ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2560 ซึ่งกรุงเทพมหานครจะเป็นเจ้าของรายได้จากค่าโดยสารทั้งหมด
ต้นปี 2560 ช่วงท้ายก่อนหมดสัญญาการเดินรถ ผู้บริหารกรุงเทพมหานครในขณะนั้น นำโดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาประสานเสียงว่าจะยกเลิก BRT เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนกว่าเดือนละ 15 ล้านบาท
ก่อนที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาเบรกการยกเลิก BRT เนื่องจากยังมีประชาชนต้องการให้มีการเดินรถอยู่เป็นจำนวนมาก
ทำให้บรรดาผู้บริหารกรุงเทพมหานครกลับลำ เดินรถ BRT ต่อ แต่เปลี่ยนวิธีการ โดยครั้งนี้ได้มอบหมายงานให้ KT ดำเนินกิจการ BRT จากสัญญารอบแรกเป็นการจ้างเดินรถ
และ KT ได้ให้สัมปทานแก่ BTSC โดย BTSC ได้รับรายได้จาก ค่าโดยสารและรายได้อื่น ๆ เช่น พื้นที่เชิงพาณิชย์ ป้ายโฆษณา พร้อมทั้งปรับอัตราค่าโดยสารเป็น 15 บาทตลอดสาย โดยสัญญารอบนี้จะหมดสัญญาในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ที่กำลังจะมาถึง
อนาคต BRT บนความไม่แน่นอน
แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานครเปิดเผยว่า โครงการนี้ กทม.มีความตั้งใจที่จะดำเนินการต่ออย่างแน่นอน โดยลำดับแรกอยากให้เป็นสัมปทานโดยแลกกับสิทธิในค่าโดยสารและรายได้อื่น ๆ เช่น ค่าโฆษณา และพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อลดภาระงบประมาณของกรุงเทพมหานคร
แต่จากการรับฟังความคิดเห็นของเอกชนหลายบริษัท เอกชนมีความเห็นตรงกันว่าต้องการให้กรุงเทพมหานครดำเนินการแบบจ้างเดินรถ โดยเฉพาะ BTSC ผู้รับสัมปทานรายปัจจุบัน ที่ขาดทุนจากการดำเนินการ BRT กว่าเดือนละ 12 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี หากจะดำเนินการต่อในรูปแบบการจ้างเดินรถ กรุงเทพมหานครจะต้องเตรียมความพร้อมเรื่องงบประมาณเพื่อจัดหารถโดยสารใหม่ และพิจารณาปรับการคิดอัตราค่าโดยสารเป็นแบบตามระยะทางจากเดิมที่อัตราค่าโดยสารเป็นแบบคงที่ 15 บาทตลอดสายประกอบด้วย
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ปัจจุบัน BRT ในวันจันทร์ถึงศุกร์จะมีผู้โดยสารเฉลี่ย 10,000 คนต่อวัน ขณะที่วันหยุดจะมีผู้โดยสารเฉลี่ย 4,000 คนต่อวัน ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ให้ที่ปรึกษาศึกษาโครงการ พบว่าจากสมมุติฐานข้างต้น จะมีรายได้จากค่าโดยสารประมาณ 3.6 ล้านบาทต่อเดือน และมีรายจ่ายที่ไม่รวมการจัดหารถโดยสารใหม่กว่าเดือนละ 8 ล้านบาท
และในการดำเนินการโครงการต่อกรุงเทพมหานครจะต้องปรับปรุงโครงการ ดังต่อไปนี้
- จัดหารถโดยสารชานต่ำออกแบบตามหลัก Universal Design และใช้พลังงานไฟฟ้า เนื่องจากรถโดยสาร BRT ปัจจุบันครบอายุการใช้งานคือ 13 ปีแล้ว
- เพิ่ม 2 สถานีโดยสาร คือ สถานีแยกถนนจันทร์ และสถานีแยกรัชดา-นราธิวาส
- ในระยะยาวจะต้องขยายเส้นทางการเดินรถสู่สถานี MRT ลุมพินีเป็นอย่างน้อยเพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสาร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันรถโดยสารด่วนพิเศษ หรือ BRT มีระยะทางให้บริการ 15.7 กิโลเมตร โดยเป็นช่องทางเฉพาะของ BRT 3.5 กิโลเมตร และเป็นช่องทางร่วมกับรถประเภทอื่น 12.2 กิโลเมตร และมีรถโดยสาร 25 คัน มีสถานี 12 สถานี คือ
- สถานีสาทร
- สถานีอาคารสงเคราะห์
- สถานีเทคนิคกรุงเทพ
- สถานีถนนจันทน์
- สถานีนราราม 3
- สถานีวัดด่าน
- สถานีวัดปริวาส
- สถานีวัดดอกไม้
- สถานีสะพานพระราม 9
- สถานีเจริญราษฎร์
- สถานีสะพานพระราม 3
- สถานีราชพฤษ์