โควิดวันนี้ (11 ก.ย. 66) พบป่วยใหม่เข้า รพ.เพิ่ม 244 ราย

ATK+ ป่วยโควิดนอกรพ.

กรมควบคุมโรค อัพเดตยอดผู้ป่วยโควิด-19 สัปดาห์ล่าสุด พบป่วยใหม่เข้าโรงพยาบาลเพิ่ม 244 คน เสียชีวิต 3 ราย ปอดอักเสบ 119 คน ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 81 คน กรมการแพทย์เตือนผู้ปกครองระวังโรคหน้าฝนในเด็ก โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ-ไข้เลือดออก

วันที่ 11 กันยายน 2566 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 รายสัปดาห์ สัปดาห์ล่าสุด (สัปดาห์ที่ 36) ระหว่างวันที่ 3-9 กันยายน 2566 พบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 244 คน เฉลี่ย 35 คน/วัน รวมสะสมตั้งแต่ต้นปีมีจำนวน 32,919 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 3 คน รวมเสียชีวิตสะสม 799 คน

ขณะที่มีผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มจำนวน 119 คน และมีผู้ป่วยต้องใส่ท่อช่วยหายใจจำนวน 81 คน

ส่วนจำนวนการได้รับวัคซีนอยู่ที่ 144.95 ล้านโดส ข้อมูลไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นข้อมูลตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค. 2566

เกาะติดยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ (3-9 ก.ย. 66)

  • ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 244 ราย
  • ผู้เสียชีวิต (รายสัปดาห์) 3 ราย
  • ผู้ป่วยปอดอักเสบ 119 คน
  • ผู้ป่วยต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 81 คน
  • ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล สะสม 32,919 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 66)
  • ผู้เสียชีวิต สะสม 799 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 66)

ทางด้านนายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝน ส่วนมากมักเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัด, ไข้หวัดใหญ่, ไข้ไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ซึ่งทำให้มีหลอดลมอักเสบ, ปอดอักเสบติดเชื้อหรือปอดบวม อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้สูง ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย

ส่วนไข้ไวรัสอาร์เอสวี (RSV) มักจะมีอาการไอ น้ำมูกไหล คัดจมูก รับประทานอาหารได้น้อย หลังจากนั้น 1-3 วัน อาจมีอาการไอมากขึ้น ไข้ หายใจเสียงดังหรือหายใจลำบากได้หากอาการรุนแรงมากขึ้น

สำหรับโรคมือเท้าปากนั้นมีสาเหตุจากการติดเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส (Enterovirus) ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยมีอาการเด่นที่ผิวหนังคือ มีตุ่มนูน แดง หรือเป็นตุ่มน้ำใส พบมากบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในช่องปาก ในผู้ป่วยบางรายอาจพบการกระจายของตุ่มผื่นทั่วตัวได้รวมถึงที่เข่าและก้น เด็กมักมีไข้สูง ไม่ยอมรับประทานอาหาร เพราะรู้สึกเจ็บตุ่มแผลในช่องปากหรือกระพุ้งแก้ม

ในส่วนของโรคไข้เลือดออกนั้น มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค เด็กมักมีอาการไข้สูงนำมาก่อนอาการอื่น มักไม่พบอาการไอน้ำมูก อาจพบหน้าแดงตัวแดงผิดปกติ และอาจพบอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้องที่ชายโครงขวา เป็นต้น

กราฟโควิด-19 รายสัปดาห์(สัปดาห์ที่ 36(3-9 กันยายน)