คมนาคมเพื่ออุดมสุขประชาชน ลงทุนเมกะโปรเจ็กต์รัฐ-ตั้งวอร์รูมสู้ภัยน้ำ

14 กันยายน 2566 กระทรวงคมนาคมต้อนรับการคัมแบ็กกลับมานั่งรัฐมนตรีว่าการอีกครั้งของ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” และเป็นวันมอบนโยบายของ 3 รัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจัดเป็นหนึ่งในกระทรวงเศรษฐกิจเกรด A รับผิดชอบการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐครบถ้วน ทั้ง “บก-น้ำ-อากาศ-ราง” โดยมีหน่วยงานในสังกัดบังคับบัญชาทั้งสิ้น 8 กรม 12 รัฐวิสาหกิจ 2 หน่วยงานอิสระ

คมนาคมเพื่อความอุดมสุข

โดยทีมรัฐมนตรีคมนาคมยุคนี้ ประกอบด้วย “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, “มนพร เจริญศรี” และ “สุรพงษ์ ปิยะโชติ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (ดูกราฟิกการแบ่งงาน 3 รัฐมนตรีประกอบ)

นอกจากนี้มี “พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, “สรวุฒิ เนื่องจำนงค์” เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

สำหรับสโลแกนจากการมอบนโยบายใหม่ คือ “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” โดยกระทรวงต้องตอบสนองความคาดหวังของรัฐบาลและประชาชน

ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางสูงสุด ลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และส่งเสริมให้เกิดความสุขจากการยกระดับคุณภาพชีวิต ลดระยะเวลาการเดินทาง ลดต้นทุน ลดอัตราค่าบริการในการเดินทางและขนส่ง ลดปัญหาอุปสรรคและสร้างโอกาสในการเดินทางของคนทุกกลุ่มอย่าง “ทั่วถึงและเท่าเทียม”

รวมทั้งส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลในการรักษาสิ่งแวดล้อม การลดใช้พลังงานจากฟอสซิล และส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อให้บริการในระบบขนส่ง

กราฟฟิกแบ่งงานคมนาคม

4 กฎเหล็กเพื่อประชาชน

นโยบายกระทรวงคมนาคมใต้ร่มเงาพรรคเพื่อไทย มี 4 แนวทาง สู่ภาคปฏิบัติ ดังนี้

1.คมนาคมเพื่อเปิดประตูการค้า การท่องเที่ยว ศูนย์กลางเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางทุกมิติ

ประกอบด้วย การส่งเสริมและยกระดับประตูการค้าและการท่องเที่ยว ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาสนามบินหลัก ส่งเสริมพัฒนาโครงข่ายระบบรางทั้งในเมืองและระหว่างเมือง ด้วยการพัฒนารถไฟทางคู่และรถไฟวามเร็วสูง

ส่งเสริมและพัฒนาระบบโครงข่ายทางถนนและทางด่วน และส่งเสริมและพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าทางน้ำที่มีต้นทุนต่ำที่สุด ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น

2.คมนาคมเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน

ปัจจุบันสถิติอุบัติเหตุและอัตราการเสียชีวิตของประชาชนยังคงอยู่ในลำดับต้น ๆ ของโลก สิ่งที่ประชาชนต้องการ คือ การสร้างความปลอดภัยพื้นฐาน ลดอุบัติเหตุทางถนน เสริมสร้างความปลอดภัยในทุกมิติ ทั้งระหว่างการก่อสร้างและระหว่างการให้บริการประชาชน

การกำกับดูแลระบบการขนส่ง ภาคการให้บริการต้องตรวจสอบมาตรการความปลอดภัย ทั้งสภาพรถ คนประจำรถ คนขับ และยกระดับไปสู่มาตรฐานที่เพิ่มสูงขึ้น

3.คมนาคมเพื่อคุณภาพชีวิตและลดต้นทุนในการเดินทาง

เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการให้บริการระบบคมนาคมขนส่ง ทั้ง “ขนคน-ขนของ” จากต้นทาง-ปลายทางให้รวดเร็วที่สุด มีความสะดวก สะอาด ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาต่ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัน ทุกพื้นที่

ครอบคลุมการให้บริการแก่ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว เช่น การเดินทางแบบไร้รอยต่อ ล้อ-ราง-เรือ เพิ่มประสิทธิภาพและจัดระเบียบการขนส่งสินค้า เป็นต้น

4.คมนาคมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น Green Transport

เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และ PM 2.5 โดยเน้นย้ำให้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก ในระบบการเดินทางและขนส่งทั้งในรถโดยสารสาธารณะ รถไฟ เรือโดยสาร และระบบขนส่งต่าง ๆ รวมทั้งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นในการแก้ไขปัญหาการจราจร

ทำทันทีราชรถยิ้ม-วอร์รูมน้ำ

“รมช.มนพร เจริญศรี” กล่าวว่า จะริเริ่มโครงการ “ราชรถยิ้ม” คือ ข้าราชการ พนักงาน และบุคลากร ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทุกคน จะต้องมีรอยยิ้มและมีความสุขในการทำงาน เพื่อส่งต่อความสุขให้กับประชาชน

อีกทั้งต้องดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล หลักคุณธรรม หลักนิติธรรม โดยเน้นเรื่องความโปร่งใสตรวจสอบได้เป็นสำคัญ

ถัดมา “รมช.สุรพงษ์ ปิยะโชติ” กล่าวว่า ให้ความสำคัญกับโครงการเร่งด่วนเป็นลำดับแรก มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ปรับปรุงระบบการทำงานให้มีความทันสมัย

ล่าสุด “รมว.สุริยะ” ระบุว่า เหตุเผชิญหน้าขณะนี้ตามที่ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านประเทศไทยตอนบนในช่วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคเหนือและภาคอีสานมีฝนตกหนัก เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือน พื้นที่การเกษตรและถนนหนทางถูกตัดขาดหลายจุด

จึงได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานหลัก อาทิ กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) รายงานผลกระทบแบบเรียลไทม์ ติดตั้งป้ายเตือน ป้ายแนะนำเส้นทางเสี่ยง จัดเจ้าหน้าที่หน่วยช่วยเหลือประชาชนภายใน 24 ชั่วโมง

รวมทั้งสั่งเปิด “ศูนย์ Command Center ภัยพิบัติกระทรวงคมนาคม” ทำหน้าที่วอร์รูมรับมือภัยพิบัติน้ำ และเตรียมความพร้อมในขั้นตอนการป้องกัน (ก่อนเกิดภัย) การเผชิญเหตุ (ขณะเกิดภัย) และขั้นการฟื้นฟู (หลังเกิดภัย)

โดยประชาชนผู้ประสบเหตุอุทกภัย สามารถขอรับการช่วยเหลือจากกระทรวงได้ที่สายด่วนติดต่อ 1356 กระทรวงคมนาคม, สายด่วน 1586 กรมทางหลวง, สายด่วน 1146 กรมทางหลวงชนบท, สายด่วน 1690 การรถไฟแห่งประเทศไทย และสายด่วน 1199 กรมเจ้าท่า