กรมอุตุฯ เปิดชื่อพายุลูกใหม่ล่าสุด โซนร้อน “ซันปา” พายุลูกที่ 16

พายุโซนร้อน
พายุโซนร้อน "ซันปา" (SANBA)

กรมอุตุฯ ออกประกาศฉบับที่ 6 เตือนพายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ซันปา” แล้ว นับเป็นพายุลูกที่ 16 ของปีนี้ ชี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงกับไทย แต่จะทำให้ภาคอีสานมีเมฆเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคใต้ฝนยังตกหนักอิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่าน

วันที่ 18 ตุลาคม 2566 นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนภัยลักษณะอากาศ ฉบับที่ 6 เรื่อง พายุโซนร้อน “ซันปา” ว่า จากการอัพเดตสถานการณ์และติดตามพายุล่าสุด : เวลา 13.00 น. (18/10/66) พายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน (ทางตอนใต้ของเกาะไหหลำ) ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ซันปา (SANBA)” แล้ว มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวไปทางเหนือ ไปทางตอนใต้ของประเทศจีน

พายุนี้ไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย แต่รอบ ๆ ของขอบพายุอาจทำให้ด้านตะวันออกของภาคอีสาน มีเมฆเพิ่มขึ้นบ้าง เตือนผู้ที่วางแผนจะเดินทางไปเวียดนามตอนบน เกาะไหหลำและจีนตอนใต้ ตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง ในช่วงวันนี้ ถึง 20 ต.ค. 66

สำหรับชื่อของ “SANBA” เป็นชื่อสถานที่ในเขตบริหารพิเศษมาเก๊า ตั้งโดยเขตบริหารพิเศษมาเก๊าเป็นพายุลูกที่ 16 จากการนับของ RSMC โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ประกาศเตือน พายุโซนร้อน "ซันปา"

 

คาดหมายอากาศทั่วไป ระหว่างวันที่ 18-24 ตุลาคม พ.ศ. 2566

ในช่วงวันที่ 18-19 ต.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ยังคงทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ภาคตะวันออก และอ่าวไทย เข้าสู่พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 20-24 ต.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ในขณะที่ร่องมรสุมเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค

สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย โดยบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตลอดช่วง

พายุโซนร้อน "ซันปา"

ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ฝนตกต่อเนื่องและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วยตลอดช่วง

ส่วนในช่วงวันที่ 20-22 ต.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่จะเกิดขึ้น

คาดหมายอากาศ 18-24 ตุลาคม 2566